การเมืองสุดเขี้ยว "ปรีดี" สุดทน
"ปรีดี ดาวฉาย" เป็น รมว.คลัง ไม่ถึง 1 เดือน ก็โบกมือลารัฐบาลแล้ว เพราะทนการเมืองสุดแสบไม่ไหว
ปรีดี ดาวฉาย อดีตกรรมการและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่นั่งควบประธานสมาคมธนาคารไทย ไม่ได้อยากมาเป็น รมว.คลัง ตั้งแต่ต้น แต่ทนแรงร้องขอจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ได้
รวมถึงยังมีแรงหนุนจากนายใหญ่ของปรีดี ที่ต้องการให้มานั่งในตำแหน่ง รมว.คลัง ทำให้ปรีดีหมดทางปฏิเสธ ต้องจำใจมานั่งตำแหน่ง รมว.คลัง ที่มีแรงกดดันมหาศาลในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19
ตำแหน่ง รมว.คลัง ของปรีดี ไม่ลงตัวตั้งแต่เริ่มต้น จากที่คาดว่า จะได้นั่งควบรองนายกรัฐมนตรี เพื่อดูเศรษฐกิจภาพรวม แต่ปรากฏว่าได้นั่งตำแหน่ง รมว.คลัง โดดๆ เพียงตำแหน่งเดียว
นอกจากนี้ ปรีดี ยังต้องขึ้นกับ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงการคลังอีกกระทรวงหนึ่ง สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนที่คาดหวังในตัว ปรีดี ในการเป็น รมว.คลัง นำเศรษฐกิจ แต่ต้องมาอยู่ภายใต้กำกับของ รมว. พลังงาน
ในศูนย์บริหารสถารการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ปรีดี ก็ไม่ได้มีบทบาทเท่าที่ควร นอกจากนี้ ศบศ. ยังมีการตั้งคณะกรรมการติดตามมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่นายปรีดี ควรได้นั่ง แต่นายกรัฐมนตรีกลับเลือกคนนอกมานั่ง กลายเป็น รมว.คลัง ต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลของคนที่ไม่ใช่รัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ปรีดี ในฐานะ รมว.คลัง ควรจะได้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2564 แต่นายกรัฐมนตรี ก็ปล่อยให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นั่งเป็นประธาน จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดปมในใจของปรีดีว่า จะเข้ามาเป็น รมว.คลัง ทำไม
นอกจากนี้ การทำงานของ ปรีดี กับ สันติ ก็มีความขัดแย้งกันรุนแรง ตั้งแต่การแต่งตั้งอธิบดีกรมสรรพสามิต ที่มีการงัดข้อกันในที่ประชุมจนต้องถอนวาระออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ปรีดี กับ สันติ ยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งงานในกระทรวงการคลัง ที่ทำงานมารวมเดือน แต่ยังไม่มีคำสั่งแบ่งงานว่า รมว.คลัง กับ รมช.คลัง จะดูแลงานหน่วยไหน ซึ่งน่าจะเป็นฟางเกือบเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ปรีดี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง เพราะทนการต่อรองคุมหน่วยงานต่างๆ ของ รมช.คลัง ไม่ได้
ในแง่ของการกอบกู้วิฤตเศรษฐกิจ ปรีดี มีแรงกดดันมหาศาล จากภาคเอกชนที่เคยขอสารพัดให้รัฐบาลทำนั้นทำนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจพ้นจากวิกฤต เมื่อมานั่งอยู่ในอำนาจ เป็น รมว.คลัง ภาคเอกชนก็คาดหวังว่า ปรีดี จะนำเรื่องต่างๆ นานา มาสานต่อ แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้ามาอยู่ในตำแหน่งกลับทำอะไรไม่ได้อย่างที่วาดฝันไว้
นอกจากนี้ ปรีดี ยังต้อง แบกรับภาพจำของดรีมทีมเศรษฐกิจของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีม 4 ยอดกุมาร ที่มีไอเดียเศรษฐกิจต่างๆ นานา มากมายออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดเวลา แม้จะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็เป็นที่พอใจของนักลงทุน เพราะการมีมาตรการดีกว่าไม่คิดทำอะไร ซึ่งในส่วนนี้ต้องยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนของ ปรีดี เพราะถึงมีไอเดียก็ไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะต้องผ่านการเมืองหลายชั้นหลายตอน
เมื่อการเมืองเขี้ยวลากดินเช่นนี้ ทำให้ ปรีดี ทำใจยอมรับไม่ได้ก็เป็นฟางเส้นสุดท้ายขอโบกมือลาออกจากตำแหน่ง เพราะอยู่ไปก็ไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และยังทำให้ชื่อเสียงที่สั่งสมมาในภาคเอกชนย่อยยับหายไปด้วย
วงในว่ากันว่า ปรีดี เมื่อได้เข้ามาเป็น รมว.คลัง เห็นข้อมูลจริงทางเศรษฐกิจ และฐานะการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นกระสุนด้าน ทำให้นายปรีดี ถึงขนาดกุมขมับ
เศรษฐกิจไทยคาดว่าเอาไม่อยู่ปี 2563 ประเมินกันแบบตรงไปตรงมา โดยสภาพทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังต่างคนต่างทำเช่นนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจหนีไม่พ้นขยายตัวติดลบมากกว่า 10%
ฐานะการคลังของประเทศ อยู่ในภาวะรัฐบาลถังแตก ปรีดี เข้าประชุม ครม. นัดที่สอง ด้วยการเสนอเรื่องให้กระทรวงการคลังกู้เงินชดเชยขาดดุลเพิ่มเติมอีกกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะหากไม่กู้เงินจะหมดคลังในเดือน ต.ค. 2563 ทำให้ประเทศไม่มีเงินใช้จ่าย
การหารายได้ของประเทศ อยู่ในภาวะวิกฤต จากผลกระทบจากโควิด-19 และการไม่เพิ่มประสิทธิภาพเก็บรายได้ของประเทศอย่างจริงจัง ในปี 2563 คาดว่า การเก็บรายได้ของประเทศจะต่ำกว่าเป้าหมาย 4 แสนล้านบาท และในปี 2564 คาดว่าจะไม่น้อยกว่านี้ ในสภาพเศรษฐกิจไม่ฟื้น ปัญหาการเมืองร้อนเขย่าขวัญเศรษฐกิจตลอดเวลา
ที่สำคัญทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ยิ่งปรับยิ่งผิดฝาผิดตัว รมว.คลัง ที่ควรเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ต้องตกชั้นแทบจะไม่มีแถวให้ยืน ให้คนได้เห็นว่า รมว.คลังอยู่ตรงไหน ทำอะไรในการกอบกู้วิกฤตของประเทศ
ความผิดพลาดดังกล่าวโทษ ปรีดี ไม่ได้ที่จะน้อยใจลาออก หรือไม่สบายสุขภาพไม่ดีเลยขอลาออกกระทันหัน แต่ต้องโทษการจัดทัพทีมเศรษฐกิจของพล.อ.ประยุทธ์ และการจัดโครงสร้าง ของ ศบศ. รวมถึงการปล่อยให้ ปรีดี โดดเดียวไร้ความหมาย เพราะนายกให้ความสำคัญการบริหารการเมืองมาก่อนการบริหารเศรษฐกิจ
การลาออกของ ปรีดี กระทบกับการแก้เศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักลงทุนไม่เชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และจะทำให้ไม่มีคนนอกกล้ามาเป็นรมว.คลัง อีกต่อไป เพราะไม่อยากมีจุดจบในตำแหน่งนี้เหมือน ปรีดี
เศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ จะทรงกับทรุดมากน้อยขนาดไหน เป็นเรื่องที่ประเมินไม่ยาก ตราบใดที่การเมืองยังเขี้ยวลากดินเช่นนี้ ทำให้ รมว.คลัง ทำงานได้ไม่ถึงเดือนโบกมือลารัฐบาล และนักลงทุนประชาชนที่ไหนจะเชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหววิกฤตโควิด-19 ไปได้