posttoday

สรรพากรเดินหน้าเก็บภาษีใหม่จากต่างชาติเข้าประเทศ

05 พฤษภาคม 2565

สรรพากรเดินหน้าเก็บภาษีใหม่จากต่างชาติเข้าประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังของไทย

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ในช่วงเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมากรมสรรพากรนำกลยุทธ์ Digital Transformation มาปรับเปลี่ยนกระบวนงานให้ทันสมัย และนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์ (Data Analytics) เพื่อวางกลยุทธ์จัดเก็บภาษี (Revenue Collection) รวมถึงนำนวัตกรรม (Innovation) และเทคนิคการบริหารงานยุคใหม่ อาทิ Design Thinking, Agile และ Hackathon มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) ¬ระบบงาน และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณธรรม (Value) และมีความรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการวางรากฐานดังกล่าวตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด - 19 ทำให้การดำเนินงานและการให้บริการประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก และยังสามารถช่วยให้กรมฯ บรรลุเป้าหมายหลัก 3 ด้าน ได้แก่ จัดเก็บภาษีได้ ‘ตรงเป้า’ ออกนโยบายภาษีช่วยเหลือประชาชนได้ ‘ตรงกลุ่ม’ และบริการผู้เสียภาษีได้ ‘ตรงใจ’”

นอกจากกรมสรรพากรจะนำดิจิทัลมาใช้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานแล้ว การสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มต่างชาติ (VAT for Electronic Service: VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 มีมูลค่าบริการจากต่างชาติสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ใหม่เข้าประเทศได้ถึงกว่า 4,200 ล้านบาทในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน และยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย จากการที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติต้องมาจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ การเก็บภาษี e – Service นี้จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้คำนวณเป็นฐานภาษีเงินได้อันจะเป็นฐานรายได้ใหม่ให้ประเทศไทยในอนาคต ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังร่วมกับ 139 ประเทศทั่วโลก เจรจามาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วย 2 เสาหลัก ได้แก่ เสาที่ 1 (Pillar 1) มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีเงินได้โดยปันส่วนกำไรมาให้กับประเทศผู้ใช้บริการถึงแม้จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศที่ให้บริการ และเสาที่ 2 (Pillar 2) มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษีโดยถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจนเสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% ทั้งนี้ หากการเจรจาต่างๆ นี้สำเร็จลุล่วงได้ตามแผนในปี 2566 ไทยจะมีแหล่งรายได้ใหม่จากบริษัทข้ามชาติ ที่เคยหลบเลี่ยงภาษี

ด้วยความมุ่งมั่นที่เพียงจะพัฒนาระบบและบุคลากรให้มีความพร้อมกับโลกในอนาคต แต่การพัฒนาระบบต่างๆ นี้กลับส่งผลดีให้กรมสรรพากรได้รับรางวัลมากมายมาตลอด 3 ปีอย่างต่อเนื่อง อาทิ รางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน (ประจำปี 2563 และ 2564) ซึ่งเป็นรางวัลที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ยกย่องเชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนสำเร็จเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐทั้งปวง รวมทั้งยังได้รางวัลระดับชาติ เช่น รางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2564 และรางวัลจากเวทีอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งสิ้น 29 รางวัล ในช่วงปี 2562 - 2564

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า การยกระดับศักยภาพของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักที่จัดเก็บรายได้ถึง 65% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด และการสร้างเสถียรภาพทางการคลังของประเทศเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก การที่องค์กรแห่งนี้จะยั่งยืนได้ จะต้องมีกระบวนงานที่คล่องตัว (Agile) ต้องนำกระบวนการออกแบบนวัตกรรม (Design Thinking) มาแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ของภาครัฐ และสร้างบุคลากรให้มุ่งมั่นพร้อมที่จะเรียนรู้ (Growth Mindset) จะเห็นได้ว่า ในช่วงสถานการณ์ของโควิด - 19 ที่เกิดขึ้นนั้น ประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยในการสนับสนุนด้านสาธารณสุขของประเทศ เพื่อดูแลประชาชนในช่วงโควิด ดังนั้น แนวคิด “สรรพากรยั่งยืน” นี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้กรมสรรพากรบรรลุวิสัยทัศน์ “การเป็นองค์กรชั้นนำที่จัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใสเป็นธรรม ด้วยนวัตกรรม และบุคลากรคุณภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพการคลัง