คลังแจงเร่งแก้หนี้ครัวเรือน 6 กลุ่ม ตามนโยบายบิ๊กตู่
คลังแจงเร่งแก้หนี้ครัวเรือน 6 กลุ่ม ตามนโยบายบิ๊กตู่ ลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้แก้ไขหนี้สินของภาคครัวเรือน ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กำหนดให้ “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ซึ่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ การเป็นหนี้สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นการกู้มาเพื่อประกอบอาชีพ อย่างไรก็ดี หากจะจำแนกกลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้สามารถแบ่งได้เป็น 6 ได้แก่
1) กลุ่มหนี้นักเรียนหรือหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
2) กลุ่มหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
3) กลุ่มหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
4) กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์
5) กลุ่มหนี้นอกระบบ
6) กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป
ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนแนวทางหนึ่ง คือ การช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น โครงการ "สร้างงาน สร้างอาชีพ" ของธนาคารออมสิน ที่ให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการอาชีพอิสระ เพื่อนำเงินไปลงทุน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ใช้นวัตกรรมทางการเกษตรมาช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ในส่วนของนโยบายสำคัญที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินการในปัจจุบัน คือการแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่
1) การบูรณาการฐานข้อมูลภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ
2) การสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคครัวเรือนในการให้ความสำคัญกับการออม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … เพื่อเป็นกลไกในการจัดให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับดูแลพี่น้องประชาชนในอนาคต
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในระยะต่อไปภาครัฐจะให้ความสำคัญใน 2 เรื่อง ได้แก่
1) การสร้างภูมิคุ้มกันการเงิน โดยการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดทำแผนการบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับประชาชนในทุกช่วงวัยและทุกสาขาอาชีพ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
2) การดูแลและกำกับการออกนโยบายที่ไม่จูงใจให้ประชาชนสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น และหากจำเป็นต้องสร้างหนี้จะต้องเป็นหนี้ที่เป็นทุนให้สามารถสร้างรายได้กลับมาให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน