เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เบาหวาน’ และ ‘ความเครียด’ ภัยเงียบโรค NCDs
แพทย์ไขข้อข้องใจ ‘เบาหวาน’ โรค NCDs ที่เกิดจากพฤติกรรม สามารถถูกกระตุ้นด้วยความเครียดได้อย่างไร? และพาเข้าใจโรคเบาหวานให้มากขึ้น
สถิติของกรมควบคุมโรคชี้ว่า ในปี 2565 มีคนไทยป่วยเบาหวานสะสมถึง 3.3 ล้านคน และมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้น
เบาหวานเกิดจาก 'พฤติกรรมของมนุษย์' ในปัจจุบันสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานได้อย่างไม่น่าเชื่อคือ 'ความเครียด'
โดย นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก รพ.วิมุต ได้ชี้ความสัมพันธ์ระหว่างเบาหวาน และความเครียด ไว้ดังนี้
- ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงซึมเศร้ามากกว่าปกติ 2 เท่า!
นพ.ชาญวัฒน์ กล่าวว่า โรคเบาหวานและความเครียดมีความเชื่อมโยงกันโดยตรง เพราะเมื่อเผชิญความเครียด หลายคนมักหันไปพึ่งของหวาน โดยไม่รู้ตัวว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และเมื่อป่วยเป็นเบาหวานแล้ว ภาระในการดูแลตัวเองยิ่งหนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายตามตารางที่แพทย์แนะนำ หรือการกินยาอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดสะสม ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และกว่า 30% ของผู้ป่วยมักประสบปัญหาสุขภาพจิต ที่อาจทำส่งผลให้ละเลยการดูแลตนเอง เช่น ขาดแรงจูงใจในการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย หรือลืมกินยาบ่อยครั้ง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนเบาหวานกำเริบ รวมถึงอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคไต หรือโรคหลอดเลือดสมอง กลายเป็นวงจรอันตรายที่ส่งผลร้ายต่อทั้งสุขภาพกายและจิตใจ
- อ่อนเพลีย ตาพร่ามั่ว สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน
นพ.ชาญวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเบาหวานคือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ มีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป หรือมีค่าน้ำตาลสะสมตั้งแต่ 6.5% จากการตรวจอย่างน้อย 2 ค่า
ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน เช่น สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด มีแผลที่เท้าเรื้อรัง มีอาการชาที่ปลายมือหรือปลายเท้า อ่อนเพลีย หรือผิวแห้งและคัน
“โรคเบาหวานแบ่งได้หลายแบบแต่เบื้องต้นเพื่อความเข้าใจง่ายขอแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
ชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
ชนิดที่ 2 พบในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและไขมันในช่องท้องมาก ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ชนิดที่ 3 เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
ชนิดที่ 4 เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือสาเหตุเฉพาะอื่น ๆ ที่ไม่จัดอยู่ใน 3 ประเภทแรก เช่น การใช้ยา เป็นต้น
ส่วนในกลุ่มประวัติครอบครัวที่มีคนเป็นเบาหวาน หรือในกลุ่มผู้สูงอายุนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ทุกวันนี้คนอายุน้อยก็เป็นโรคเบาหวานกันแล้ว เพราะนิยมกินของหวานเพื่อคลายเครียดและไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย กลายเป็นพฤติกรรมอันตรายที่เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน” นพ.ชาญวัฒน์ระบุ
- จัดการความเครียดให้เหมาะสม ป้องกันโรคเบาหวาน
สำหรับวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสมนั้น นพ.ชาญวัฒน์แนะนำว่าการกินของหวานไม่ใช่วิธีแก้เครียดเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีอีกหลายวิธี เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง เล่นเกม หรือฟังเพลง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ในระยะยาว
"แต่ถ้ายังอยากกินของหวานอยู่ ก็ควรจำกัดปริมาณน้ำตาลไม่ให้เกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมต่อวัน และควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีแม้จะอายุน้อยหรือยังไม่มีอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น กินของหวานเป็นประจำ มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คนในครอบครัวเป็นเบาหวาน มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะถ้าตรวจพบเร็วจะได้รักษาได้ทันเวลา" นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล กล่าวทิ้งท้าย