โอกาสของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
โดย สุทธิรัตน์ รักจิตร์ กองทุนบัวหลวง
โดย สุทธิรัตน์ รักจิตร์ กองทุนบัวหลวง
โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงวัย สังคมเมืองที่ขยายตัว และพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักในความสำคัญของการบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์มากขึ้น กระแสอาหารเพื่อสุขภาพจึงเฟื่องฟูและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมิได้จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งต้องดูแลอาหารการกินของตัวเอง แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนทั่วไปที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ไปจนถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพด้วย
ขณะเดียวกัน ผลวิจัยมากมายแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง และใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบ ได้เป็นปัจจัยผลักดันให้คนหันมาสำรวจสุขภาพของตัวเอง และพิถีพิถันคัดสรรอาหารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและถูกสุขลักษณะเพื่อบริโภค
จากการสำรวจของEuromonitor พบว่ามูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลก มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและคาดการณ์ว่าภายในปี 2560 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ15ของมูลค่าอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด ประเทศที่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน
ในประเทศไทยนั้น ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพปี 2558 มีมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท หากพิจารณาย้อนหลัง 5 ปีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.1%นับว่าเป็นอัตราขยายตัวที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตลาดอาหารโดยรวมของประเทศ ซึ่งเติบโตแค่3-5% ต่อปี ทั้งนี้ประเภทอาหารที่นิยมเป็นแบบ “ฟังก์ชั่นนัล” ซึ่งเติมสารอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพหรือช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ ได้อย่างเช่นผลิตภัณฑ์บำรุงสมองผลิตภัณฑ์กลุ่มวิตามินต่างๆรวมทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มบิวตี้ดริ้งซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ครองตลาดในสัดส่วน 62% ของยอดขายทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่มียอดขายรองลงมาได้แก่ กลุ่มอาหารสกัดจากธรรมชาติ (30%) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มของผลิตภัณฑ์สุขภาพในไทยยังคงเติบโตต่อไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนอย่างเช่น เทรนด์ดูแลห่วงใยใส่ใจสุขภาพซึ่งเป็นพฤติกรรมเด่นชัดมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทุกช่วงวัย หรือความสำคัญต่อการดูแลและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตัวเอง ทั้งรูปร่างและหน้าตาให้ดูดีและเป็นที่ประทับใจแก่คนรอบข้างรวมถึงทิศทางประชากรที่ค่อยๆ ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุคาดกันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่ายิ่งกระตุ้นให้ต้องดูแลสุขภาพมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ วิถีชีวิตอันเร่งรีบ รวมทั้งเวลาออกกำลังกายที่หดสั้นลงทำให้อาหารแนวสุขภาพเริ่มเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสโลก ขณะเดียวกันในด้านผู้ผลิตนั้น ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับอาหารประเภทนี้มากขึ้น เห็นได้ชัดจากจำนวนสินค้าที่หลากหลายและยังเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายขึ้น ทั้งช่องทางออนไลน์หรือร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่หันมาเจาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี ตลาดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มกลุ่มนี้มิได้จำกัดเฉพาะในประเทศเท่านั้น ในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะอาเซียน ก็มีมีศักยภาพที่จะเติบโตเช่นกัน เพราะรับรู้แล้วว่าสินค้า “เมดอินไทยแลนด์” มีมาตรฐานด้านคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมไปทั่วแล้ว
การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนารูปแบบของสินค้า เช่นข้าวกล้องแบบพร้อมทาน หรือเครื่องดื่มธัญพืชสำเร็จรูป ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่น ขณะเดียวกัน กลุ่มประชากรรายได้ปานกลางในอาเซียนที่กำลังเติบโต ซึ่งคาดว่าจะมีถึง400ล้านคน หรือกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมดในปี 2563 (ประมาณ 6 เท่าของประชากรของไทย) ก็สะท้อนถึงโอกาสสำคัญในการเติบโตของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทยเช่นกัน