ไปกินโต๊ะแชร์ ให้ผลประโยชน์งอกเงยกันเถอะ!
การกินโต๊ะแชร์เพื่อการลงทุน ถือเป็นอีกหนึ่งในกุศโลบายที่ดีสำหรับคนมือรั่ว
โดย...บีเซลบับ/ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
การกินโต๊ะแชร์เพื่อการลงทุน ถือเป็นอีกหนึ่งในกุศโลบายที่ดีสำหรับคนมือรั่ว ที่ทำอย่างไรๆ หรือทำเท่าไรๆ ก็เก็บเงินไม่อยู่ เก็บเงินไม่ได้ เลยหาวิธีทำให้การออมเงินเป็นผลพลอยได้จากงานสังคมสนุกๆ ดีกว่า ทำงานมานาน ก็เริ่มคิดถึงเพื่อนสมัยเรียนหนังสือ อย่างที่เขาบอกกันไว้ว่า เพื่อนทำงานไม่เหมือนเพื่อนที่ร่วมเรียนกันมา ก็ต้องไม่เหมือนอยู่แล้ว เพราะเพื่อนร่วมงาน มาร่วมงานกันก็เพราะงาน มีแง่มุมของงานและการแข่งขัน ภาระหน้าที่ระหว่างเขากับเรา
ส่วนเพื่อนร่วมเรียนหนังสือคือมิตรภาพที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ทำงานแล้วโหยหายังอยากคุยกับเพื่อนเก่า เพราะคุยกันแล้วสบายใจดี จึงได้ตกลงนัดพบกันเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม สนุกครบทีมแต่งวดแรกๆ นานไปหลายคนมาบ้างไม่มาบ้าง ติดงานติดแฟนหรือครอบครัว ทำให้มาไม่ได้เพราะธุระอื่น ล้มนัดไปก็หลายครั้ง เอาอย่างนี้ดีมั้ย ต้องหาวิธีสร้างพันธะขึ้นมา
จึงมีคนคิดตั้งวงแชร์มิตรภาพขึ้น ลงมือเล่นแชร์กันดีกว่า วิธีเล่นก็ง่ายมาก ทุกเดือนมารับประทานอาหารร่วมกัน กินเสร็จแล้วจับฉลากว่า ใครจะเป็นคนได้เงิน เป็นการบังคับให้มากินข้าวเจอหน้ากันทุกเดือน เดือนละครั้ง แถมได้ลุ้นว่าใครจะได้เงินกลับบ้านในครั้งนี้ ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จดียิ่ง ไม่มีใครเบี้ยวนัด หากมาพร้อมเพรียงเพื่อกินแชร์ แถมต่อๆ มาวงแชร์ยังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้อื่นที่นิยมแนวเดียวกันตามมากินด้วย(ฮา)
เพื่อนมากขึ้น มากจำนวนขึ้น แต่เพื่อไม่ให้วงรอนานเกินไปจนน่าเบื่อ จึงแตกแชร์เป็นสองวงบ้าง สามวงบ้าง มีเป้าหมายให้แชร์แต่ละวงจบทีละปีเดียว(หรือสั้นกว่า 1 ปี) สมาคมโต๊ะแชร์ทั้งหลายได้ทั้งความสนุกและได้ทั้งเงินก้อน แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาคิดให้ปวดหัวว่างวดนี้จะต้องเปียแชร์กี่บาทกี่สตางค์ ลุ้นเอาตอนจับฉลาก ตื่นเต้นดี!
คิดให้เป็นเงินออมก็คือ สมมติว่ามีเงินเดือนหมื่นบาท จะออมมาตรฐานคือ 10% ก็คือ 1,000 บาท วงหนึ่งมีสิบสองคน คนละ 1,000 บาท/เดือน หมายถึงทั้งปีสมาชิกวงแชร์วงนี้ก็จะมีเงินเก็บรวม 1.2 หมื่นบาท (รวมที่เราจ่ายให้ตัวเองด้วย) คิดเป็นตัวเลขเงินออมที่เราออมเงินได้ 10% ของเงินเดือน และได้ความสุขจากการได้พบเพื่อนฝูง เป็นดอกเบี้ยระหว่างปี
ถ้ามีเงินเดือนมากกว่า 1 หมื่นบาท ก็หาวิธีอื่นเพื่อออมเงินเพิ่มเติม อย่าเพิ่มในวงแชร์ เพราะก็ควรที่จะหาวิธีออมที่หลากหลาย เป็นการกระจายความเสี่ยงนั่นอย่างไร โจทย์สำคัญของทุกคนคือเมื่อได้เงินออมมาแล้วจะทำอย่างไร ถ้าตั้งต้นว่านี่คือเงินออม ได้เงินมาแล้วต้องนำไปต่อยอด เพื่อให้เป็นเงินที่มากขึ้น ไม่ควรคิดว่าเป็นเงินได้เปล่า นำไปถลุงกับเบี้ยบ้ายรายทาง เช่น เสื้อผ้า หรือนำไปสุรุ่ยสุร่ายอย่างไม่คิด
เงินจากโต๊ะแชร์จะเอาไปทำอะไร เป็นคำถามที่ต้องถามตัวเอง ทำอะไรที่จะทำให้เงินงอกขึ้นมาอีกได้ เช่น
1.เก็บไว้สำหรับจ่ายเบี้ยประกันชีวิตรายปี (จ่ายเป็นรายปี อย่าจ่ายเบี้ยประกันชีวิตเป็นรายเดือนเพราะรายปีถูกกว่าเยอะ)
2.เก็บสะสมไว้เพื่อเป็นเงินก้อนสำหรับลงทุนในหุ้น เพราะการลงทุนในหุ้นต้องใช้เงินก้อนจำนวนหนึ่ง (ระหว่างเก็บเงินก็ศึกษาหุ้นไปพลางๆ)
3.ใช้สำหรับเพิ่มค่าตัวเอง ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ใช้สำหรับหาความรู้พิเศษเพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้น ได้เงินเดือนปรับขึ้น
4.ใช้เงินนี้เป็นเงินทุนทำกิจการ เงินก้อนอุตส่าห์สะสม นำไปใช้ซื้อหรือลงทุนกับเครื่องประกอบอาชีพสำหรับคนที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ต่อยอดหรือจ้างคนเพิ่ม ขยายสาขาเพิ่ม
5.เก็บเป็นเงินสำรอง หรือเงินฉุกเฉินที่จะสามารถคว้าใช้ได้ทุกเมื่อยามต้องการ กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเหตุไม่คาดฝันในชีวิต วิธีนี้ช่วยให้ไม่กระทบแผนเก็บเงินก้อนใหญ่(กว่า) ชีวิตมีทุนสำรองคือชีวิตที่ได้เปรียบเสมอ
สรุปก็คือ โต๊ะแชร์ กินแล้วได้เงินแล้ว ออมเงินให้ได้ ได้เงินก้อนมาแล้ว อย่าใช้ทันที ต้องคิดว่าจะหาวิธีใดเพื่อให้เงินนั้นเป็นเงินทุนต่อไปสำหรับการหาเงินเพิ่มของเรา กินโต๊ะแชร์วิธีนี้ไม่เพียงได้กินโต๊ะ แต่ได้ลงทุนสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง