วางแผนมีบุตร กับการลดหย่อนภาษีปี’61
ช่วงนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่จะยื่นภาษีประจำปี 2560 กันแล้ว หลายๆ คนกำลังอยู่ในช่วงเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อใช้ยื่นภาษีให้กรมสรรพากร
โดย...ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ CFP® Wealth Manager ทิสโก้ เวลธ์
ช่วงนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่จะยื่นภาษีประจำปี 2560 กันแล้ว หลายๆ คนกำลังอยู่ในช่วงเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อใช้ยื่นภาษีให้กรมสรรพากร ที่สำคัญต้องคำนวณเงินที่จะได้รับคืนหรือที่ต้องจ่ายเพิ่ม และวางแผนจัดสรรใช้จ่ายเงินส่วนนี้ด้วยเพื่อไม่ให้กระทบกับการเงินของเรา
ในปีที่แล้วกรมสรรพากรได้เพิ่มค่าลดหย่อน โดยนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้ถึง 1.5 หมื่นบาท โดยรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 1 แสนบาท และได้เพิ่มการหักค่าใช้จ่ายจาก 40% แต่รวมกันต้องไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 50% แต่รวมกันต้องไม่เกิน 1 แสนบาทด้วย ทำให้การเสียภาษีของปี 2560 ลดลง ผู้เสียภาษีก็มีเงินเหลือไปออมเงินหรือไปใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น
มาปีภาษี 2561 รัฐบาลได้ให้ค่าลดหย่อนเพิ่มมากขึ้นที่เกี่ยวกับบุตร ได้แก่
1.ค่าลดหย่อนบุตรสำหรับลูกคนที่ 2 เป็นต้นไป เป็นคนละ 6 หมื่นบาท จาก 3 หมื่นบาท ที่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเกิดในปี 2561 เป็นต้นไป
2.ให้นำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นให้มีบุตรเพิ่มขึ้นของภาครัฐนั้น เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรองรับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานลดลง ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนประชากรสูงอายุราว 32% ในปี 2583 ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนไทยมีลูกเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม
เป้าหมายที่เป็นผู้ที่มีรายได้และอยู่ในระบบภาษี
แต่การมีบุตรเพิ่มขึ้นก็ตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าเล่าเรียน ซึ่งจะขอแนะนำการวางแผนการเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาบุตรเบื้องต้น คือ เราต้องสำรวจค่าเทอมของโรงเรียนที่เราอยากให้ลูกได้เข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของภาครัฐ เอกชน หรือจะเป็นนานาชาติ ซึ่งค่าเทอมก็จะแตกต่างกัน โดยขอยกเป็นตัวอย่างประมาณการค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนเพื่อคำนวณให้เห็นตัวเลข (ดูตารางประกอบ)
เมื่อรวมค่าเทอมตามระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทต่อการมีบุตร 1 คน ประมาณ 5 ล้านกว่าบาท เป็นตัวเลขที่ไม่ใช่น้อยเลย และค่าเทอมก็มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี แต่พอเข้าเรียนแล้วค่าเทอมก็อาจจะคงที่ การวางแผนการเงินเพื่อให้บุตรมีเงินเพียงพอที่จะใช้ในการศึกษาแต่ละระดับชั้น เราต้องมาดูว่าเราพร้อมแค่ไหน มีทรัพย์สินและรายรับที่จะใช้เป็นทุนการศึกษาบุตรมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับค่าเทอมที่จะต้องจ่ายในอนาคต
วิธีการออมเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาบุตรมีหลายวิธี แต่การแบ่งเงินรายรับมาเป็นเงินออมในแต่ละเดือนก็เป็นเกราะป้องกันไว้ไม่ให้รายจ่ายค่าเทอมมาเป็นภาระมากเกินไปเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่าย ซึ่งเมื่อเก็บเงินได้ครบตามระดับการศึกษาแล้ว เงินส่วนนี้ต้องลงทุนที่เป็นความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อถึงเวลาจ่ายค่าเทอมเงินส่วนนี้พร้อมที่จะจ่ายได้ทันที
แต่ก่อนหน้าที่บุตรจะเข้ารับการศึกษาระดับสูงอย่างปริญญาตรีหรือปริญญาโทที่มีเวลาออมเงินก่อนจะถึงเวลาจ่ายค่อนข้างนาน 15-20 ปี เงินออมส่วนนี้ก็สามารถลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาได้ โดยอาจจะลงทุนหุ้นได้สูงถึง 50% แล้วแต่เป้าหมายว่าต้องการผลตอบแทนให้เงินเพิ่มขึ้นมาระดับไหนถึงจะเพียงพอที่จะจ่ายค่าเทอม แต่ก็จะต้องลดความเสี่ยงลงเมื่อใกล้จะถึงเวลาที่จะต้องจ่ายค่าเทอมเช่นกัน ส่วนค่าเทอมที่มีระยะเวลาออมเงินไม่นานเช่น 3-5 ปี ก็ไม่ควรลงสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงของเงินที่ต้องจ่ายและอาจจะทำให้เงินไม่เพียงพอเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าเทอมได้
ฉะนั้น การมีบุตรเพิ่ม 1 คน นอกจากได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มแล้ว อย่าลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอมที่เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงตามมาด้วย การจัดพอร์ตลงทุนให้เพียงพอกับค่าเทอมของบุตรก็สำคัญ ซึ่งถ้าไม่มีเวลาติดตามการลงทุนหรือไม่เชี่ยวชาญตลาดลงทุน ก็ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ครับ