สสส. หวังไทยพ้นโรค NCDs เปิดเวทีเสวนา กระตุ้นคนไทยขยับตัวมากขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำทีมภาคีเปิดเวทีเสวนา “PA Forum : EP.1 - Active Environment for All" เสริมกิจกรรมทางกาย ลดความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หวังไทยพ้นกลุ่มโรค NCDs
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเสวนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย “PA Forum : EP.1 - Active Environment for All การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม” ขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม
ข้อมูลจากสหประชาชาติ ระบุว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย (ตั้งแต่อายุ 30-70 ปี) สูงถึงร้อยละ 74 สสส. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในแง่การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค สอดคล้องกับแนวทาง SDGs ของสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้กับประชากรทุกกลุ่มในการมีกิจกรรมทางกาย
นายแพทย์ สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น หรือคนแก่ ส่วนใหญ่ล้วนมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเหตุเพราะสังคมก้มหน้า ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตและเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการสวนหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองเองก็เพิ่มถึง 3 เท่า
ขณะที่ ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า “เดิมเราเคยมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ เขตห้ามขายสุรา ทุกอย่างจึงต้องมีพื้นที่เป็นตัวกำหนดดังนั้นการที่เราจะขยับร่างกายอย่างมีความสุขได้ ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อด้วย
ซึ่งจะต่อเนื่องมาถึงเรื่องของเศรษฐกิจรวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือความร่วมมือจากท้องถิ่น ในการกำหนดองค์ประกอบของพื้นที่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ หรือย่านชุมชน ซึ่งจะต้องกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจากมีผลต่อการกำหนดนโยบายต่าง ๆ และเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาพื้นที่แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างพื้นที่ย่านตลาดน้อย นอกจากจะทำเส้นทางเดินที่ปลอดภัยเพื่อให้สามารถเดินเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ในชุมชนได้แล้ว จะต้องมีมิติทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวมาเกี่ยวโยงด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และชุมชน โดยประโยชน์ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ คนที่อยู่ในย่านนั้น”
ข้อมูลจาก ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เผยว่า การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีระยะทางที่ใกล้ที่สุดเฉลี่ย 4.5 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาถึง 60 นาที สสส. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระยะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสวนขนาดเล็ก (Pocket Park) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางเข้าถึงไม่เกิน 15 นาที เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกายให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากการเป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs และลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร