posttoday

กก.วินัยร้ายแรงชี้'บิ๊กต่าย'มีอำนาจเต็มไล่'บิ๊กโจ๊ก'ออกจากราชไว้ก่อน

10 พฤษภาคม 2567

มติคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ชี้ บิ๊กต่าย มีอำนาจเต็มตามมาตรา 131 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ ในการใช้ดุลยพินิจเป็นการเฉพาะตัวในฐานะผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งไล่ บิ๊กโจ๊ก ออกจากราชการไว้ก่อนโดยไม่ต้องรอความเห็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร.ที่มีพล.ต.อ.สราวุธ การพานิช รองผบ.ตร.เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนฯได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 9พ.ค.2567 โดยมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญคือ การเสนอแนะความเห็นตามมาตรา 120 วรรคสี่ แห่งพร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 กรณี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐออกจากราชการไว้ก่อน อันเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรงและต้องหาคดีอาญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ได้ยื่นร้องคัดค้านคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง 9 นายจาก 14 นายมีส่วนได้เสียในการสอบสวนทำให้ขาดคุณสมบัติตามกฎ ก.ตร.หรือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 

มีรายงานว่า ผลพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนมีมติเห็นว่ากรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือต้องหาคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ดังนั้น ผู้ออกคำสั่งคือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ในฐานะรรท.ผบ.ตร. จึงมีอำนาจตามมาตรา 105 และ 108 สั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาพักหรือออกราชการไว้ก่อนได้ตามมาตรา 131

 

คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้างแรง ที่มีพล.ต.อ.สราวุฒิ เป็นประธานและมีกรรมการรวม14นาย เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร รองจเรตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ธวัชชัย นาคฤทธิ์ รองผบช.ภาค 1 พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผบช.ก. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พล.ต.ต.ศุภณัฏธ์ เจริญเรืองสกุล ผบก.กองตรวจราชการ 4 พ.ต.อ.บัณฑิต นิลอ่อน รอง ผบก.(สอบสวน) กองบังคับการกฎหมายและคดี ตำรวจภูธรภาค 2 

พ.ต.อ.พนม เชื้อทอง ผกก.สน.ทุ่งมหาเมฆ พ.ต.อ.เทิดสยาม บุญะเสนา ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 5 พ.ต.อ.อัครเดช สุริยงค์ ผกก.อก.บก.ตำรวจสันติบาล 2  พ.ต.อ.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.บุญนำ ลบโลกา รองผกก.(สอบสวน) กก.4 กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.ศิริพล บุญหนุน รองผกก.ฝ่ายสืบสวนและตรวจราชการ 2 กองตรวจราชการ 2 สำนักงานจเรตำรวจ และพ.ต.ท.รชต ฉัตรวชิระวงษ์ สว.กก.4 บก.ป. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีการอรรถาธิบายความว่า กรณีการสอบสวนวินัยร้ายแรงพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 131  แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐในฐานะผู้บังคับบัญชาของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ย่อมมีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะถือเป็นอำนาจในการใช้ดุลยพินิจโดยเฉพาะของผู้บังคับบัญชาโดยไม่ต้องรอให้คณะกรรมการสอบสวนทำข้อเสนอแนะ แตกต่างจากมาตรา 120 ซึ่งเกี่ยวกับการรอนสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกสอบสวนตามที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยกขึ้นอ้าง 

ทั้งนี้ แม้มาตรา 131 วรรคหก บัญญัติว่า อำนาจของผู้บังคับบัญชาในการสั่งพักราชการ หรือออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน กฎ ก.ตร.  ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 131 วรรคหกก็ตาม เพราะปัจจุบันยังไม่มีการตรา กฎ ก.ตร. ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ.2565

ดังนั้น ตามบทเฉพาะกาล ในมาตรา 179 จึงต้องนำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งพักราชการ หรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร.เดิม เมื่อปี 2547 มาบังคับใช้โดยอนุโลมไปพลางก่อน
 

นอกจากนี้ การดำเนินการทางวินัยกรณีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 120 วรรคท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน และการดำเนินการสืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามมาตราอื่นๆ เป็นคนละกรณีการสั่งให้ออกจากราชการตามที่บัญญัติในมาตรา 131 วรรคหนึ่ง เพียงแต่ตามมาตรา 120 วรรคท้าย บัญญัติห้ามว่า จะอ้างเหตุที่ถูกสอบสวน แล้วไปกระทบสิทธิ์ หรือรอนสิทธิ์ ผู้ที่ถูกสอบสวนไม่ได้  เว้นแต่คณะกรรมการสอบสวนจะเสนอให้สั่งพักราชการหรือออกจากราชการ เช่น สิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งในปีนี้ เพราะครบวาระการดำรงตำแหน่ง เป็นต้น

ดังนั้น มาตรา 131 วรรคหนึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาโดยแท้หรือเป็นการเฉพาะแก่ผู้บังคับบัญชาที่จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 130 วรรคหนึ่ง และวรรคหก โดยไม่ต้องรอข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใดทั้งสิ้น และใช้บังคับเฉพาะกับกรณีถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรง หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญาเท่านั้น