posttoday

เขตเมืองสุโขทัย เตรียมป้องกันน้ำท่วม ขณะเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำมากขึ้น

28 สิงหาคม 2567

สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง อำเภอเมืองสุโขทัยลุ้นระดับน้ำยมล้นตลิ่ง ขณะเขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำมากขึ้นรองรับน้ำเหนือ

สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดแพร่ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมได้ทยอยไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างแล้ว  ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง  ในขณะที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งรับมวลน้ำต่อจากทางตอนบนปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้ผันน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาท ลงแม่น้ำยมสายเก่าก่อนที่จะผันเข้าไปเก็บไว้ในพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก  ปัจจุบันได้รับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 10% หรือประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม.  ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะผันลงแม่น้ำน่านไปตามคลองสาขาต่างๆ

ส่งผลให้ร้านค้าในย่านธุรกิจในเทศบาลเมืองสุโขทัย เตรียมกระสอบทราย  เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม หากแม่น้ำยมล้นพนังกั้นน้ำ ซึ่งต้องจับตามวลน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำยม ที่ไหลหลากจากจังหวัดแพร่ จะส่งผลกระทบกับอำเภอเมืองสุโขทัยหรือไม่

เขตเมืองสุโขทัย เตรียมป้องกันน้ำท่วม ขณะเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำมากขึ้น เขตเมืองสุโขทัย เตรียมป้องกันน้ำท่วม ขณะเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำมากขึ้น

ในขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ส.ค. 67 เวลา 7.00 น.

พบว่าปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (178 มม.)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย (138 มม.)

ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (95 มม.)

ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (65 มม.)

ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (73 มม.)

ภาคใต้ : จ.สตูล (204 มม.)

 

ซึ่งจากการคาดการณ์สภาพอากาศ ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. – 2 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ส่วนสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม มีปริมาณน้ำรวม 60% ของความจุเก็บกัก (48,681 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 42% (24,513 ล้าน ลบ.ม.)

ก่อนหน้านี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ออกแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

 

รวมทั้งมีประกาศให้เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 25-31 ส.ค. 67 ขอให้เตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้แจ้งปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงขอแจ้งปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 900 - 1,400 ลบ.ม./วิ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.50 - 1.50 ม.

 

สรุปสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด ในวันที่ 27 ส.ค. 67 ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่

จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เวียงชัย เชียงแสน ป่าแดด พญาเม็งราย เทิง ขุนตาล เชียงของ แม่สรวย และแม่สาย)

จ.น่าน (อ.เชียงกลาง และบ่อเกลือ)

จ.พะเยา (อ.เมืองฯ ภูซาง ดอกคำใต้ และเชียงคำ)

จ.แพร่ (อ.เด่นชัย วังชิ้น สูงเม่น และหนองม่วงไข่)

จ.อุตรดิตถ์ (อ.ฟากท่า และน้ำปาด)

และจ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีนคร และศรีสัชนาลัย)