posttoday

น้ำท่วม67: เตือนพื้นที่ลุ่มชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำเสี่ยงท่วม

29 สิงหาคม 2567

สนทช.สรุปน้ำท่วม67 รอบวัน 28สิงหาคม67 เกิดอุทกภัย 11จังหวัด พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน บางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำคลุมพื้นที่5จังหวัดและกทม.เขื่อนสิริกิติ์ปรับลดระบายน้ำ รองรับผันน้ำจากน้ำปาดและลุ่มน้ำยมเข้าแม่น้ำน่าน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2567 โดยสรุปสถานการณ์ รอบประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ยังคงเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ 

จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เวียงชัย พญาเม็งรายเชียงแสน ป่าแดด เทิง ขุนตาล พานเชียงของ แม่สรวย แม่ลาว และ เวียงเชียงรุ้ง) จ.เชียงใหม่ (อ.แม่ออน) 
จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ) 
จ.น่าน (อ.เชียงกลาง และบ่อเกลือ) 
จ.พะเยา (อ.เมืองฯ ภูซาง ดอกคำใต้ เชียงม่วน และเชียงคำ) 
จ.อุตรดิตถ์(อ.ฟากท่า) 
จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ สวรรคโลก ศรีสำโรง และศรีสัชนาลัย) 
จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองฯ) 
จ.เลย (อ.ท่าลี่) 
จ.หนองบัวลำพู (เมืองฯ)
 จ.สตูล (อ.มะนัง)

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  ระบุว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ในส่วนของ จ.สุโขทัย ได้มีมวลน้ำสูงสุดไหลผ่าน อ.ศรีสัชนาลัย แล้วเมื่อ 27 ส.ค. 67 มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,700 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันลดลงเหลือ 1,300 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มลดลง

สำหรับลุ่มน้ำน่านในพื้นที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ยังมีปริมาณน้ำสูงกว่าตลิ่ง ซึ่งได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ได้ปรับลดการระบายน้ำลงเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำไหลลง แม่น้ำน่าน และรองรับน้ำจากน้ำปาดและลุ่มน้ำยมที่จะผันระบายน้ำเข้ามาที่แม่น้ำน่านในส่วนของการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้อยู่ในอัตรา 1,200 ลบ.ม./วินาที โดยจะควบคุมไม่ให้เกิน 1,400 ลบ.ม./วินาที 

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบรับทราบล่วงหน้า
 
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 25-31 ส.ค. 67 ขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นและเตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

น้ำท่วม67: เตือนพื้นที่ลุ่มชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำเสี่ยงท่วม