posttoday

“อนุดิษฐ์”ซูฮก“ผบ.ทอ.”ชงซื้อ”กริพเพน“ ย้ำ 8 ข้อต้องเขียนในสัญญา

31 สิงหาคม 2567

“อนุดิษฐ์” ยกนิ้ว “ผบ.ทอ.” ตัดจบชงซื้อ “กริพเพน” ยึดภารกิจ “ทัพฟ้า” ไม่ปล่อยรัฐบาลแทรกแซง ย้ำต้องดูสัญญาจัดซื้อรอบคอบ-รัดกุม อย่าหละหลวมเหมือนตอนซื้อฝูงแรก มั่นใจ 8 เงื่อนไขสำคัญต้องอยู่ในสัญญา เน้นอิสระในระบบ Data Link พ่วงดึงอุตฯไทยมีส่วนร่วม

วันนี้ (31 ส.ค.67) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กทม. และอดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะอดีตผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 (F-16) กองทัพอากาศ (ทอ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “EP 5 กริพเพน กับนโยบายชดเชย และความเป็นอิสระในระบบ Data Link” ซึ่งเป็นการติดตามการจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 ฝูงเก่าที่กำลังจะปลดประจำการในปีงบประมาณ 2568 งบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทของ ทอ. เป็นตอนที่ 5 หลังมีรายงานข่าวว่า ทอ.เตรียมเสนอรายงานสรุปผลการคัดเลือกจัดซื้อที่ระบุเป็นเครื่องบินกริพเพน ของบริษัท SAAB ประเทศสวีเดน 

โดย น.อ.อนุดิษฐ์ ได้สนับสนุนการดำเนินการของ ทอ. ภายใต้การนำของ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ที่คำนึงถึงภารกิจของ ทอ.เป็นหลัก และฟันธงโดยไม่ต้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง พร้อมย้ำเตือนไปถึง ทอ. ในการพิจารณาสัญญาจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนฝูงใหม่ให้มีความรอบคอบรัดกุม เงื่อนไขสำคัญต่างๆต้องถูกระบุอย่างชัดเจน ไม่หละหลวม เพื่อไม่ซ้ำรอยกับการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนฝูงแรกที่เงื่อนไขและข้อเสนอต่างๆ เป็นการตกลงกันด้วยวาจา ไม่ระบุไปในสัญญา ทำให้หลายเรื่องต้องมาระบุกันในข้อเสนอขายครั้งนี้

“ผมรู้สึกภาคภูมิใจใน ผบ.ทอ. ที่เปี่ยมไปด้วยภาวะผู้นำท่านนี้ด้วยความจริงใจ การเลือกแบบเครื่องบินรบฝูงใหม่ โดยยึดเอาภารกิจของ ทอ.เป็นหลัก และฟันธงโดยไม่ต้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง ถือได้ว่าท่านตระหนักถึงอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบของท่านเป็นอย่างดี เพราะคงไม่มีใครหน้าไหนมาตัดสินใจเลือกเครื่องบินรบได้ดีกว่า ทอ.อย่างแน่นอน โดยความกล้าหาญของท่าน ที่ไม่ยอมถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง จะเป็นตำนานเล่าขานกันต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

นอกจากเครื่องบินกริพเพนจะตอบสนองความต้องการด้านยุทธการของ ทอ. แล้ว บริษัท SAAB จากสวีเดนยังมาพร้อมข้อเสนอที่ให้อิสระในการเข้าถึงซอฟแวร์ในส่วนสำคัญของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีอธิปไตยในการพัฒนาต่อยอดระบบเหล่านี้ด้วยความสามารถของ ทอ.เองในอนาคต โดยไม่ต้องไปพึ่งบริษัทต่างชาติอีก รวมถึงการให้ชดเชยทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยแบบจุใจ

น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้ฝากไปถึง สส.ในสภาฯ ด้วยว่า อีกไม่กี่วัน จะมีการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำ ปี 68 ในวาระที่ 2 จึงอยากให้นำแนวทาง และบรรทัดฐานการระบุเงื่อนไข Offset (นโยบายออฟเซต (Offset Policy) คือ นโยบายที่ประเทศผู้ซื้อยุทโธปกรณ์ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการซื้อหรือนำเข้ายุทโธปกรณ์ตามปกติ) สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ผลิตต่างประเทศ ให้กับกรรมาธิการงบประมาณ และ สส.ทุกท่าน เป็นข้อมูลสำหรับการอภิปราย และหน่วยงานราชการอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์กับการจัดซื้อครุภัณฑ์จากต่างประเทศได้ด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุต่อถึง 8 เงื่อนไข Offset ประกอบด้วย 1.การกำหนดให้มีการจ้างผลิตจากผู้ผลิตหรือการจ้างบริการจากผู้ประกอบการในประเทศไทยตามขอบเขตเนื้องานในโครงการ โดยระบุปริมาณงานเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า ... % ของมูลค่าโครงการ 

2.การกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตต่างประเทศ ให้ถึงระดับที่ 9 (Technology Readiness Levels 9) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อการพัฒนาบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์ นำไปสู่การมีลิขสิทธิ์ของเทคโนโลยีในอนาคต ตลอดจนมีขีดความสามารถในการทดสอบ การใช้งาน การติดตามผลการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และการรับรองมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย และอุตสาหกรรมไทยสามารถดูแล พัฒนา ปรับปรุง บำรุงรักษาระบบได้ด้วยตนเองอย่างอิสระ

3.การกำหนดให้เกิดความร่วมมือกับอุตสาหกรรมในประเทศไทยจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงในประเทศไทย อย่างน้อยให้ถึงการซ่อมบำรุงระดับกลาง (Intermediate Level) หรือขั้นสูงสุดที่การซ่อมบำรุงระดับโรงงาน (Depot Level)

4.การกำหนดให้อุตสาหกรรมไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์ module ที่สำคัญของระบบ เช่น ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการบิน (Operation Flight Program; OFP) โดยการมอบกรรมสิทธิ์ใน software source code หรือ Application Programming Interface (API) หรือ Interface Control Document (ICD) เพื่อให้ผู้ใช้งาน หรืออุตสาหกรรมไทยสามารถพัฒนาต่อยอด ปรับปรุง ดัดแปลง เพิ่มเติมขีดความสามารถให้แก่ระบบได้ด้วยตนเองอย่างมีอิสระ ไม่ต้องกลับไปพึ่งพาผู้ผลิตต่างประเทศ

5.การกำหนดให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบสำคัญและเป็นความลับของการป้องกันประเทศ เช่น ระบบควบคุมบังคับบัญชา (Command & Control) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธิวิธี (Tactical Data Link) ระบบอำนวยการรบ (Combat Management System) ดำเนินการพัฒนาโดยหน่วยงานราชการไทย หรือบริษัทอุตสาหกรรมไทยเท่านั้น

6.กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตต่างชาติมีการส่งมอบระบบ System Integration Lab (SIL), Software Test Bench, Land Base Test Site และอุปกรณ์ (Hardware) หรือ Software Development Environment ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบต่อไปในประเทศไทย

7.กำหนดให้ สภาอุตสากรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และหน่วยงานราชการ ทำการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้พัฒนาชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องบินหรือระบบป้องกันประเทศ และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบป้องกันประเทศ โดยให้มีการตรวจสอบสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร ขีดความสามารถ มาตรฐานสากลที่ได้รับ มีการออกแบบและผลิตจริงไม่ใช่การซื้อของมาจากต่างประเทศเพื่อประกอบเท่านั้น เพื่อให้การรับรองเป็นบริษัทอุตสาหกรรมที่มีความน่าเชื่อถือ และถูกระบุอยู่ในรายชื่อบริษัทอุตสาหกรรมที่หน่วยงานรัฐต้องให้การสนับสนุนจัดซื้อจัดจ้างเป็นลำดับแรกก่อนเท่านั้น หากหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามต้องมีความผิด

และ 8.การกำหนดความต้องการดังกล่าวด้านบน จะต้องโปร่งใส ชัดเจน ในรายละเอียดความต้องการ (TOR) สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทผู้ผลิตต่างประเทศ ทั้งนี้บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องแสดงหลักฐานการดำเนินการหรือการได้มาซึ่งใบอนุญาตส่งออก (export license) จากรัฐบาลของประเทศผู้ยื่นข้อเสนอ กรณีผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถจัดการให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตส่งออกตามระยะเวลาที่กำหนด หน่วยงานรัฐมีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาได้

“ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ฟันธงว่า ทอ.จะระบุในสัญญาการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนฝูงใหม่อย่างแน่นอน และประชาชนเจ้าของภาษีจะได้อุ่นใจว่าเงินภาษีของท่านจะได้รับการใส่ใจดูแลเป็นอย่างดี ด้วยเงื่อนไขในสัญญาที่ถูกทำขึ้นอย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส สุดท้าย ผมขอเป็นกำลังใจให้ ผบ.ทอ. ตราบใดที่ท่านมีความกล้าหาญ และยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประเทศชาติ พวกเราจะยืนอยู่เคียงข้างท่าน เป็นกำลังใจให้ท่านต่อสู้ต่อไป ไม่ว่าท่านจะเผชิญกับอำนาจเร้นลับใดๆทั้งจากในและนอกประเทศก็ตาม คุณงามความดีเหล่านี้ ย่อมเป็นเกราะคุ้มครองท่านได้อย่างแน่นอน ตำแหน่งอาจอยู่ไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่ตลอดไป”น.อ.อนุดิษฐ์ ทิ้งท้าย