“เจษฎา” ชี้ยังไม่ควรสรุปว่ามีเอกชนเพียงรายเดียวเกี่ยวข้องกับปลาหมอคางดำ
“เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” ชี้ยังไม่ควรรวบรัดสรุปว่า มีเอกชนเพียงรายเดียวที่เกี่ยวข้องกับปลาหมอคางดำ ระบุยัต้องหาความจริงเรื่องที่มีเอกชนส่งออกปลาชนิดนี้จำนวนมาก
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาของ อนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวี ถึงแถลงสรุปผลการศึกษาปลาหมอคางดำที่ นายวาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธการ แถลงผลการดำเนินงาน การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พบว่ามีเอกชนเพียงรายเดียว ที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และผลศึกษาบ่งชี้ว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน รวมถึงยังอ้างอิงข้อมูลของตนด้วย
โดยกล่าวว่า มีส่วนจริงที่บอกว่ามีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อนำมาวิจัย แต่ปลาตายหมดแล้วไม่สามารถทำวิจัยต่อได้ จึงทำให้หลายคนมองว่าบริษัทเอกชนดังกล่าวคือจุดกำเนิดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ แต่ตอนนี้ถ้าจะให้สรุปผลแบบรวบรัดก็ยังตัดเรื่องที่มีคนลักลอบนำเข้าปลาแบบที่ไม่ขออนุญาตทิ้งไม่ได้ เพราะทุกคนรู้ดีว่าในกลุ่มผู้เลี้ยงปลาแปลกหรือปลาสวยงาม มีการลักลอบนำเข้ามาสารพัดทางอยู่แล้ว แต่ในสมัยนั้นปลาพวกนี้ยังไม่มีกฎหมายห้ามนำเข้า
ด้านผลการวิจัย DNA ปลาหมอคางดำ ความจริงแล้วอยากจะได้ DNA ของปลาสมัยที่บริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อ 10 ปีก่อนมาสกัด DNA เพื่อเทียบว่า DNA ของปลาหมอคางดำในตอนนั้นตรงกับ DNA ของปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมาคือบริษัทเอกชนได้นำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานา ก็เลยเสนออธิบดีกรมประมงว่ามีอีกทางหนึ่งก็คือ ขอ DNA ปลาหมอคางดำจากประเทศต่างๆในแอฟริกา เช่น กานา โกตดิวัวร์ มาเทียบกับตัวอย่างของปลาหมอคางดำในไทยเพื่อทำสโคปให้แคบลง
สำหรับปลาในประเทศกานาและประเทศโกตดิวัวร์ พันธุกรรมจะคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าฟันธงว่าเป็นกานาประเทศเดียวก็ไม่ได้ ในขณะนี้เองก็ไม่สามารถบอกได้แน่ชัด ยังไม่ควรรีบรวบรัดสรุปจบ และปักธงว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้ามา แต่จะต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มอย่างละเอียด
ส่วนเรื่องที่คณะอนุ กมธ.อว.แถลงว่าไม่มีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า 11 บริษัทมีการส่งออกปลาจริง แล้วเป็นช่วงเวลาที่ไทยมีการแพร่ระบาดอยู่แล้ว อ.เจษฎา กล่าวว่า เรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำ มีข้อมูลระบุละเอียดว่าเคยส่งออกกี่ครั้ง ครั้งละกี่ตัว บริษัทชื่ออะไร มีทั้งใช้ชื่อปลาเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ในการส่งออกก็มี เช่น ชื่อไทยตอนนั้นระบุเป็นปลาหมอสีข้างลายมันคืออีกสปีชีส์หนึ่ง แต่ถ้าชื่อวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษชัดเจนมาก จากการสอบสวนในช่วงนั้น ทุกบริษัทบอกว่าไม่เกี่ยวไม่ได้ส่งออกปลาหมอคางดำเลย เป็นการกรอกข้อมูลผิดบ้าง shipping เป็นคนบอกผิดบ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องที่คาใจ เพราะมีบางบริษัทส่งออกเป็นร้อยครั้ง เป็นอีกประเด็นที่ตัดทิ้งไม่ได้ เพราะถ้าส่งออกได้มากขนาดนี้ ก็ต้องตั้งคำถามว่าเพาะเลี้ยงที่ไหน และมีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรรีบสรุปจบควรต้องไล่จี้หาความจริงกันต่อไป