posttoday

สนทช.ใช้บึงบอระเพ็ดหน่วงน้ำเหนือลดผลกระทบท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

07 ตุลาคม 2567

สนทช.ใช้พื้นที่บึงบอระเพ็ด หน่วงน้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ขณะที่กรมชลประทาน ปรับการระบายน้ำเป็น 2,200 ลบ.ม./วินาที เตือนประชาชนท้ายเขื่อนริม2ฝั่งเจ้าพระยายกของขึ้นที่สูง มั่นใจไม่ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจในกรุงเทพฯ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การรับน้ำเหนือไหล่บ่า 
ผ่านลุ่มน้ำยม - น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากการหารือร่วมกับกรมชลประทาน จะมีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเขื่อนโดยจะรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนไม่เกิน +17.2 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง และระบายน้ำท้ายเขื่อนในอัตราไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที 

และได้แจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบ ยกของขึ้นสูงการระบายน้ำในอัตรา 2,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทรัพย์สิน 

สำหรับปัจจุบันบึงบอระเพ็ดได้ช่วยเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ลดปริมาณน้ำที่จะไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาได้เป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา สทนช. ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในบึงโดยเปิดให้น้ำไหลเข้าบึงในช่วงหลังวันที่ 15 ก.ย. 67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ ทั้งนี้ได้มีการหารือกับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เพื่อตกลงร่วมกัน ขณะนี้มีน้ำไหลเข้าสู่บึงบอระเพ็ดแล้ว จำนวน 290 ล้าน ลบ.ม.สามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 80 - 90 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 11.00น.วันที่ 6ตุลาคม 2567  กรมชลประทาน แจ้งว่า เขื่อนเจ้าพระยา ปรับเพิ่มการระบายน้ำ 2,200 ลบ.ม./วินาที  โดยที่สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,383 ลบ.ม./วินาทีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
 
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงาน ส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 1,865 ลบ.ม/วินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยภาพรวม แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด