ทีดีอาร์ไอห่วงรายรับคลังไม่พอจ่ายเยียวยาน้ำท่วมอาจต้องกู้เงินเพิ่ม
ทีดีอาร์ไอ ชี้ น้ำท่วม67รุนแรง รัฐบาลมีงบไม่พอเยียวยา ดันหนี้สาธารณะพุ่ง เผยแต่ละปีต้องจัดสรรงบเกิน1แสนล้าน อาจต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินอีกรอบเหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำตอนเจอสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ “สัญญาณเตือนวิกฤติการคลังของไทย ถึงเวลาปฏิรูปได้หรือยัง” จัดโดยศูนย์การศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ NIDA ว่า ในระยะยาวสถานการณ์คลังของประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีข้อจำกัดในการรับมือกับภัยธรรมชาติ
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นมากว่าการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นก็มาจากรายจ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐจากภาษีลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพี โดยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้ของรัฐในส่วนนี้ลดลง โดยการลดลงไม่ใช่ลดลงในเรื่องของเม็ดเงินแต่เมื่อลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของจีดีพี จากเดิมเราเคยเก็บได้ 17-18% ของจีดีพี มาอยู่ที่ 13-14% ของจีดีพี
รวมทั้งเมื่อรายรับของรัฐบาลลดลงมากก็ทำให้รายจ่ายของภาครัฐควรจะลดลงไปด้วยโดยสัดส่วน แต่ภาครัฐที่ผ่านมามีการใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมากขึ้นด้วยซึ่งเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีผ่านมา
“ในอนาคตมองว่าการคลังของภาครัฐจะมีปัญหามากขึ้น ปัจจุบันหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 64% ต่อจีดีพี และจะขึ้นไปในระดับ 70% แม้ว่าจะมีคนบอกว่า 70% ไม่น่ากลัว เพราะหลายประเทศหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปที่ 100-200% ต่อจีดีพี ซึ่งสิ่งที่ต้องดูคือ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น หากระดับการเพิ่มขึ้นปีละ 3- 4% แบบนี้มองว่าน่ากลัว"
ดังนั้นจึงมีคำถามว่าทำไมหนี้สาธารณะถึงขึ้นได้เร็วขนาดนั้น คำตอบก็คือ เราไม่ได้มีการปฏิรูปภาษีเมื่อรัฐมีรายจ่ายมากขึ้นแต่รายรับลดลงก็ทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลมากขึ้น และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รวมทั้งหากพื้นที่ทางการคลังเหลือน้อยแล้วเกิดวิกฤติที่หนักๆ ขึ้น เช่น หากเกิดน้ำท่วมใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องใช้เงินในการเยียวยามากขึ้นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมเหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำตอนเจอโควิด-19 ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น
“การขาดดุลงบประมาณที่ดันขึ้นไปเยอะๆ นั้นก็จะทำให้ความสามารถทางการคลังในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินนั้นก็จะมีปัญหาตามไปด้วยในระยะยาว เนื่องจากเราต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการฟื้นฟู และเยียวยาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ดร.สมชัย กล่าว
ทั้งนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า งบประมาณการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
1.การจัดสรรในปีงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภาวะน้ำท่วม และน้ำแล้งควบคู่กันโดยช่วงหลายปีงบประมาณที่ผ่านมางบประมาณเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท
ผ่างบปี67 บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 1.9แสนล้านบาท
สำหรับปีงบประมาณ 2567 ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2567/2568 โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 19,624 รายการ รวมวงเงินงบประมาณ 119,851.64 ล้านบาท ดำเนินการโดย 9 กระทรวง 30 หน่วยงาน
ส่วนปีงบประมาณ 2568 งบประมาณในส่วนนี้เพิ่มเป็น 131,647 ล้านบาท โดยจัดสรรให้ 26 หน่วยงาน และจัดสรรให้กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการป้องกันบรรเทาอุทกภัย โดยหน่วยงานที่จัดทำแผนดังกล่าวในภาพรวมคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำร่างแผน 3 ปี (2568-2570) ด้านทรัพยากรและโครงการสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ โดยให้ สทนช.เสนอ ครม.เดือนส.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับแผนงาน 3 ปี วงเงินรวม 548,485 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ ปี 2568 วงเงิน 155,986 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 208,815 ล้านบาท และปี 2570 วงเงิน 183,684 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง ในระดับประเทศลงลึกระดับตำบล และหมู่บ้าน โดยวงเงินนี้ไม่รวมโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มเติม หรือจากโครงการที่เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน
งบกลางฉุกเฉินกว่าครึ่งใช้รับมือภัยพิบัติ
2.สำหรับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งส่วนนี้ใช้งบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน และจำเป็น โดยงบประมาณส่วนนี้อยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรีโดยตรง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขออนุมัติจากนายกรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ขณะที่แต่ละปีงบประมาณจะมีงบประมาณกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน 90,000-100,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาในแต่ละปีงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณในส่วนนี้ในการดูแลประชาชน และแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติปีละประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ของการใช้งบประมาณในส่วนนี้จะใช้ไปกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นหลัก
หลายกระทรวงเข้าคิวขอ "งบกลาง" เยียวยา
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในปีนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ อย่างมาก
สำหรับงบประมาณกลางที่นายกรัฐมนตรีมีอยู่อาจไม่เพียงพอเพราะขณะนี้ได้อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 3,900 ล้านบาท เพื่อให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานกับจังหวัดที่เจอกับปัญหาอุทกภัย นำไปใช้แจกจ่ายประชาชนในพื้นที่เป็นเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น
ทั้งนี้ การประชุม ครม.วันที่ 8 ต.ค.67 กระทรวงมหาดไทย จะเสนอปรับเกณฑ์การช่วยเหลือจากเดิมจะจ่ายตามความเสียหาย 5,000 - 9,000 บาทต่อครัวเรือน เป็น 9,000 บาทต่อครัวเรือนเท่ากันหมด เพราะความเสียหายต่อบ้านเรือนของประชาชนมีความเสียหายมาก
ขณะที่มีคำของบประมาณจากกระทรวงเกษตรในการช่วยเหลือเกษตรกรที่เสนอขอมาที่รัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของปัจจัยการผลิตและเมล็ดพันธุ์เพื่อให้สามารถเริ่มการเพาะปลูกได้ทันทีหลังน้ำลดเป็นวงเงินประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะมีรายการของบกลางฯ เข้ามาอีกมาก โดยเฉพาะการซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่เสียหาย
รัฐบาลเล็งกระตุ้นลงทุนฟื้นเศรษฐกิจหลังน้ำลด
ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนที่จะใช้การซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆ เหล่านี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของโครงการนี้คาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 70,000 - 80,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโครงการที่กระจายลงไปทั่วประเทศ
ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณในส่วนนี้จะใช้งบประมาณจากงบประมาณกลางรายการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.83 แสนล้านบาท ที่เดิมกันไว้ทำโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ในส่วนนี้ซึ่งถือว่าเป็นอีกแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆให้ฟื้นจากอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว