รัฐบาลดันโครงการ “เดินดีไปด้วยกัน” ลดกระดูกหักผู้สูงวัย
ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ในปี 2565 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 12.1 ล้านคน รัฐบาลหนุนโครงการ “เดินดีไปด้วยกัน” ลดเสี่ยงกระดูกหักในผู้สูงอายุ
วันนี้ (13 เมษายน 2568) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถิติทางทะเบียนประชากรไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดยในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากถึง 12.1 ล้านคน หรือ 18.3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ปัญหาสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการพลัดตกหกล้มที่นำไปสู่ภาวะกระดูกหัก เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกรณี “กระดูกสะโพกหัก” ที่เป็นสาเหตุสำคัญของความพิการและอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 30 - 50% ภายใน 1 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 มีจำนวน 23,426 ราย และในปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 34,246 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 56,443 รายในปี 2593 ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, สสส., บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด และภาครัฐ ได้ร่วมกันผลักดันโครงการ “เดินดีไปด้วยกัน” ที่มุ่งเน้นป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
โครงการนี้ใช้ “ระบบกระเป๋าสุขภาพ” ผ่านแอป “เป๋าตัง” และ LINE @NHSO เพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุ ประเมินความเสี่ยง และป้องกันการพลัดตกหกล้ม โดยมีการเก็บข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงกับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ช่วยให้วางแผนดูแลได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ผลการดำเนินโครงการในพื้นที่นำร่อง 11 จังหวัดและ 1 เขต พบว่า
- อัตราการล้มใหม่และล้มซ้ำลดลง 10%
- อัตราการเสียชีวิตหลังผ่าตัดกระดูกสะโพกลดเหลือเพียง 15%
- ผู้สูงอายุในพื้นที่นำร่อง 70% เข้าถึงการประเมินความเสี่ยงและการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง
นายคารมย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการป้องกันอุบัติเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พร้อมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพ เพื่อวางรากฐานระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืนสำหรับสังคมสูงวัยในอนาคต