posttoday

ตั้ง ‘ชาติพงษ์’อดีตรอง อสส.สอบส่วยเทวดาค่าคุ้มครอง ดิไอคอน

16 ตุลาคม 2567

“ประเสริฐ” เซ็นตั้ง ‘ชาติพงษ์’ อดีต รอง อสส.นั่ง ปธ.สอบข้อเท็จจริงคดี ‘ดิไอคอน’จ่ายส่วยเทวดาเป็นค่าคุ้มครอง มีอำนาจเรียกสอบ-เอกสาร สคบ.เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดี

นายประเสริฐ จันทรวงทองรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้ลงนาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่369/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์

 

จากกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ และ ได้มีการเผยแพร่คลิปเสียงบันทึกการสนทนามีเนื้อหาทำให้เข้าใจได้ว่ามีผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์รายหนึ่ง ได้รับการช่วยเหลือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องที่ถูกร้องเรียน

 

เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ประกอบด้วย

1. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์   อัยการอาวุโส    เป็นประธานกรรมการ

2.พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ

3. นายนิรันต์ ยั่งยืน รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เป็นกรรมการ

4.นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) เป็นกรรมการ

5. พ.ต.ต.จตุพล บงกชมาศ   ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการ

6. นายวิทยา นีติธรรม  ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นกรรมการ

7. นายปวริศ ผุดผ่อง คณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) เป็นกรรมการ

8 นายวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการ

 

โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

ข้อ 1.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ข้อเท็จจริงและมีอำนาจเรียกเอกสารใด ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือหน่วยงานใด ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา และให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง ในกรณีจำเป็นรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควร

ข้อ 2.คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้

 

ข้อ 3.ให้คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ข้อ 4 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

 

สำหรับนายชาติพงษ์ จีระพันธุ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีดีกรีเป็นอดีตรองอัยการสูงสุด  ซึ่งในสมัยเป็นอัยการขึ้นชื่อในฝีมือเรื่องปราบการทุจริตคอร์รัปชัน เคยเป็นหัวหน้าคณะทำงานที่คุมคดีสำคัญของสำนักงานคดีพิเศษหลายคดี เช่น คดีนิติบุคคล ฟิลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร,คดีทุจริต สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเกี่ยวพันถึงคดีทุจริตฟอกเงินเครือข่ายวัดธรรมกาย ,คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ,คดีทุจริตการฟอกเงินในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ,เคยเป็นกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องคดีลูกนักธุรกิจชื่อดังขับรถชนคนตาย 

เเละล่าสุดในสมัยยุค นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเคย มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่(บิ๊กโจ๊ก)และเคหะสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ถือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเเม่นยำในข้อกฎหมาย