posttoday

ดีอีชี้ข่าวปลอม! กรุงไทยเปิดลงทะเบียนเงินหมื่นบาทรอบใหม่

09 พฤศจิกายน 2567

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตือนข่าวปลอม “ธนาคารกรุงไทย เปิดลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รอบใหม่” อย่าเชื่อ อย่าแชร์ หวั่นสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล

     นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 854,009 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 579 ข้อความ

     สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 564 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 11 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 229 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 79 เรื่องข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ

     ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

     กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 97 เรื่อง 

     กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 66 เรื่อง

     กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 25 เรื่อง 

     กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 14 เรื่อง 

     กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 27 เรื่อง

     เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ และนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และสิทธิประกันสังคม ทั้งในเรื่องการเปิดสินเชื่อ และเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ สร้างความเข้าใจผิด สร้างความวิตกกังวล และอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ 

     โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

     อันดับที่ 1 : เรื่อง ธนาคารกรุงไทย เปิดลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รอบใหม่

     อันดับที่ 2 : เรื่อง ธนาคารกรุงไทย ส่งเอกสารแจ้งตรวจพบความผิดปกติแอปพลิเคชัน Krung NEXT

     อันดับที่ 3 : เรื่อง ผู้ประกันตนสามารถกู้เงินประกันสังคมได้ ผ่านเพจ Carroll Reyes

     อันดับที่ 4 : เรื่อง ตำรายาแก้โรคมะเร็งหายใน 6 วัน

     อันดับที่ 5 : เรื่อง โรงพยาบาลเอกชน 70 แห่ง เตรียมถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม เนื่องจากอัตราการจ่ายปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุน ทำให้ขาดทุน

     อันดับที่ 6 : เรื่อง จะเกิดทอร์นาโด ระดับ 4 ในพื้นที่ แปดริ้ว กรุงเทพ และปริมณฑล

     อันดับที่ 7 : เรื่อง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกเอกสารวงในบอกเลขก่อนวันออกรางวัล

     อันดับที่ 8 : เรื่อง คลิกลิงก์ เพื่อแก้ไขแอปฯ ทางรัฐค้างอยู่ขั้นตอนที่ 3 และ 4

     อันดับที่ 9 : เรื่อง ไปรษณีย์ไทยส่งอีเมลแจ้งให้อัปเดตข้อมูลการเรียกเก็บเงิน เพื่อขอจัดส่งพัสดุใหม่

     อันดับที่ 10 : เรื่อง จำหน่ายบัตรราคาพิเศษพร้อมการเดินทางไม่จำกัดบนระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบเป็นเวลา 6 เดือน

     อย่าเชื่อ! ข่าวปลอมแจกเงินหมื่นรอบใหม่

     โดยข่าวที่ได้รับความสนใจ อันดับ 1 คือ เรื่อง “ธนาคารกรุงไทย เปิดลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รอบใหม่” ซึ่ง กระทรวงดีอีตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับธนาคารกรุงไทย กระทรวงการคลังพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยธนาคารไม่ได้เปิดลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตแต่อย่างใด เป็นการกระทำของมิจฉาชีพที่แอบอ้างถึงธนาคารกรุงไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อสร้างความสับสนแก่ประชาชน

     ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนควรระมัดระวังในการกรอกข้อมูลและไม่ควรกดลิงก์แปลก น่าสงสัยที่ส่งโดยไม่ทราบที่มาชัดเจน สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารกรุงไทย ได้ที่ www.krungthai.com หรือติดต่อ Krungthai Contact Center 02-111-1111 หรือแจ้งผ่าน Facebook : Krungthai Care

     ข่าวปลอมอันดับ ที่ 2 คือ “ธนาคารกรุงไทย ส่งเอกสารแจ้งตรวจพบความผิดปกติแอปพลิเคชัน Krung NEXT” กระทรวงดีอีประสานงานกับธนาคารกรุงไทย กระทรวงการคลัง พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของมิจฉาชีพที่แอบอ้างถึงธนาคารกรุงไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมที่ไม่ได้ออกโดยธนาคารกรุงไทยแต่อย่างใด จึงขอเตือนประชาชนควรระมัดระวังในการกรอกข้อมูลและไม่ควรกดลิงก์แปลก น่าสงสัยที่ส่งโดยไม่ทราบที่มาชัดเจน 

"ดีอีมีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด"