ฟิลิปปินส์อ่วม “ไต้ฝุ่นหม่านหยี่” ซัดถล่ม อุตุยันไม่กระทบไทย
ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "หม่านหยี่ (MAN-YI)" พัดถล่มฟิลิปปินส์อย่างรุนแรง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ย. ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ต้นไม้หักโค่น สายไฟขาด ทางการสั่งยกเลิกเที่ยวบิน-อพยพคนนับแสน กรมอุตุยันอ่อนกำลังลงก่อน ไม่กระทบไทย
ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "หม่านหยี่ (MAN-YI)" ยังคงมีความเร็วลมสูงสุด 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากขึ้นฝั่งบนเกาะกาตันดัวเนส ซึ่งมีประชากรเบาบางในช่วงดึกของวันที่ 16 พ.ย.
ประชาชนมากกว่า 650,000 คนต้องอพยพออกจากที่พักตามคำสั่งของทางการ ในขณะที่หน่วยงานสภาพอากาศแห่งชาติเตือนถึงผลกระทบจากพายุลูกนี้ “ที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติและอันตรายถึงชีวิต” และยกเลิกเที่ยวบินหลายสิบเที่ยวตั้งแต่วันเสาร์ที่ 16 พ.ย. ก่อนที่พายุไต้ฝุ่นหม่านหยี่ (Man-Yi) จะพัดขึ้นฝั่ง โดยคาดว่าอิทธิพลของพายุลูกนี้จะทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
ไต้ฝุ่นหม่านหยี่มีความเร็วลมประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมุ่งหน้าเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของเกาะลูซอน ทำให้สำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นประกาศเตือนภัยพายุขั้นที่ 2 จากระดับสูงสุดสำหรับพื้นที่จังหวัดคาตันดูอาเนส และจังหวัดคามารีเนสซูร์ แต่ยังไม่มีรายงานจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากพายุลูกนี้
ไต้ฝุ่นหม่านหยี่ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 6 ที่ซัดถล่มฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน และทำให้ทางการต้องสั่งยกเลิกเที่ยวบินหลายสิบเที่ยวในภูมิภาควิซายัส (Visayas) ทางตะวันออก
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ยังเตือนให้ประชาชนระวังอันตรายจากคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ storm surge ซึ่งอาจสูงมากกว่า 3 เมตรในบริเวณชายฝั่งบางแห่งของเกาะลูซอน และแม้พายุลูกนี้จะมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงระหว่างที่เคลื่อนตัวผ่านหมู่เกาะฟิลิปปินส์ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงมีความแรงระดับไต้ฝุ่นขณะที่ออกสู่ทะเลจีนใต้
ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ได้อัพเดทสถานการณ์และเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "หม่านหยี่ (MAN-YI)" เวลา 04.00น.เช้าวันนี้ (17/11/67): มีศูนย์กลางบริเวณทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอล ลงสู่ทะเลจีนใต้เช้าตรู่วันที่ 18 พ.ย.67 และเคลื่อนตัวทางตะวันตกเข้าใกล้เกาะไหหลำ และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ คาดว่าจะสลายตัวใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม พายุนี้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสาน