posttoday

รัฐฯ ชวนฉีดวัคซีน HPV "ป้องกันมะเร็งปากมดลูก" ป.5 ฉีดฟรี ตั้งเป้าทั่วประเทศ

25 มกราคม 2568

รัฐบาลชวนฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แนะฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่อายุ 11-12 ปี ได้ประโยชน์สูงสุด! ตั้งเป้าฉีดให้กลุ่มเด็กอายุ 11-12 ปี และกลุ่มหญิง อายุ 11 - 20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ฟรี! ครอบคลุมทั่วประเทศ

KEY

POINTS

  • รัฐบาลห่วงใยสุขภาพ! รณรงค์ป้องกันมะเร็งปากมดลูก แนะฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่อายุ 11-12 ปี
  • ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ป้องกันโรคได้ด้วยการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ

"เดือนมกราคม" ถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัย "มะเร็งปากมดลูก" ที่องค์การด้านโรคมะเร็งทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ของผู้หญิงทั่วโลก และอันดับ 5 ของประเทศไทย 

โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค

ซึ่ง การป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน HPV สามารถป้องกันโรคได้ 70-90% อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้แล้วยังคงต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ 

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่มีใช้ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิดหลัก ตามจำนวนของสายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีน ได้แก่ วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (bivalent) ประกอบด้วย แอนติเจนของเชื้อเอชพีวี 16 และ 18 วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (quadrivalent) ประกอบด้วยแอนติเจนของเชื้อเอชพีวี 6, 11, 16 และ 18 และวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (nonavalent) ประกอบด้วยแอนติเจนของเชื้อเอชพีวี 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

และข้อห้ามควรระวังของการฉีดวัคซีนเอชพีวี ได้แก่ ผู้ที่ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ต่อสารประกอบในวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการแพ้ยาง (Latex) หรือยีสต์ (Yeast) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ ผู้ที่มีอาการป่วย ติดเชื้อ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหาย ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ถ้าตั้งครรภ์ในช่วงที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ แนะนำให้ฉีดเข็มที่เหลือจนครบ 3 เข็ม ในช่วงหลังคลอด 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่เหมาะสมกับการฉีดวัคซีน เอชพีวี ได้แก่

1. กลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีนเอชพีวี คือ ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ได้แก่ เด็กหญิง (วัคซีนชนิด 2, 4 หรือ 9 สายพันธุ์) และเด็กชาย (วัคซีนชนิด 4 หรือ 9 สายพันธุ์) ที่อายุ 11-12 ปี และหากไม่ได้รับวัคซีนในช่วงอายุดังกล่าวสามารถฉีดในช่วงอายุ 13-26 ปีได้ 

2. การฉีดวัคซีนในผู้หญิงและผู้ชายอายุ 27-45 ปี ให้พิจารณาฉีดวัคซีนเป็นรายๆ ไป ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรได้รับคำอธิบายถึงประโยชน์ที่จะได้รับและอาจไม่เทียบเท่ากับการฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี 

3. ผู้หญิงที่เคยเป็น หรือกำลังมีหูดหงอนไก่ หรือรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก หรือมีผลตรวจคัดกรองทางเซลล์วิทยาปากมดลูกผิดปกติ หรือตรวจพบเชื้อเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูง ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีเช่นเดียวกับสตรีทั่วไป 

4. ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือตรวจหาเชื้อเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงก่อนเริ่มฉีดวัคซีน 

“รัฐบาลได้ดำเนินแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีการกำหนดนโยบายให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีแก่เด็กหญิง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อายุ 11-12 ปี และกลุ่มหญิง อายุ 11 - 20 ปี ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV ทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่ได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีครบแล้วยังคงต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ หากมีข้อสงสัยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง”

 

ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV 9 สายพันธุ์ ในเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป. 5 ตั้งเป้าปี 2568 ฉีดครอบคลุมเป้าหมายหญิงไทย 11 - 20 ปี ทั่วประเทศ 1 ล้านคน โดย Kick off ไปแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สุโขทัย พิษณุโลก มหาสารคาม หนองคาย ฉีดไปแล้วกว่า 440,000 คน และล่าสุดได้ Kick off กิจกรรมฉีดวัคซีนฯ เพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ เป้าหมาย 25,566 คน