CIB Game on รื้อระบบสยบ "จีนดำ" รวบ “ลี ซีจุน” ตั้งแก๊งรับทำบัตรประชาชนปลอม

06 มีนาคม 2568

CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ รวบ “ลี ซีจุน”ผู้ต้องหาหมายแดง หนีคดีฉ้อโกง 15,000 ล้าน กบดานไทย ตั้งแก๊งรับทำบัตรประชาชนปลอม ร่วมมือ "ตำรวจนอกรีด" อุ้มรีดทรัพย์คนจีน

ตำรวจสอบสวนกลาง เปิดปฏิบัติการ“CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ ล่าผู้ต้องหาหมายแดง พร้อมขบวนการทำบัตรประชาชนเถื่อน” นำกำลังเข้าจับกุมชาวจีน ผู้ต้องหาหมายแดง หนีคดีฉ้อโกงกบดานอยู่ที่ประเทศไทย รับจ้างทำบัตรประชาชนและพาสปอร์ตปลอมให้กับกลุ่มจีนเทา และยังเป็นผู้ร่วมขบวนการ 4 อดีตตำรวจตม.อุ้มรีดทรัพย์ชาวจีน 10 ล้านบาท ที่เคยเป็นคดีดัง เมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ

โดยมีพล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช.,พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป. พ.ต.ท.รัฐมนตรี พันชูกลาง รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ป. ร่วมกันแถลงปฏิบัติการดังกล่าว 

 

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2568 ตำรวจสอบสวนกลางได้นำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 11 จุด ในพื้นที่ 7 จังหวัด ทั่วประเทศ ประกอบด้วย นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, เชียงใหม่, นนทบุรี, ชลบุรี และกรุงเทพฯ

 

สามารถจับกุม นายลี ซีจุน (Mr.Li zhijun) อายุ 43 ปี สัญชาติจีน น.ส.เอ้ ซาน (MS.AYE SANT) อายุ 30 ปี สัญชาติเมียนมา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในข้อหา 1.ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

2.ทุจริต หรือหลอกลวง โดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ

3.ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม

4.ร่วมกันสนับสนุนพนักงานเจ้าหน้าที่ปลอมบัตรประชาชน

5.ร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

6.ร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกรับประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ

 

พร้อมตรวจยึดของกลาง

-สมุดบัญชีธนาคาร 14 เล่ม

-เงินสด​ 8,500 หยวน บัตรATM 5  ใบ

-โทรศัพท์มือถือ 14 เครื่อง

-แท็บเล็ต 1 เครื่อง

-คอมพิวเตอร์ 9 เครื่อง

-บัตรขาว 2 ใบ

-รถยนต์ 2 คัน

-วัตถุคล้ายทองคำ 5 รายการ

-หนังสือเดินทาง

-บัตรประชาชน หรือ เอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องรวม 190 รายการ

 

CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมยังนำหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เข้าอายัดตัวผู้ต้องขัง ในเรือนจำซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. 4 ราย ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีอื่นก่อนหน้านี้ เพื่อดำเนินคดีเพิ่มเติมในความผิดฐาน  “เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”

CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ

พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ กล่าวว่า เคสนี้สืบเนื่องจากช่วงปลายปี 2566 มีผู้เสียหายจีน มาร้องขอความเป็นธรรมหลังถูกตำรวจรีดทรัพย์ 2 ล้านบาท จึงขยายผลตรวจสอบ พบว่า เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2565 ผู้เสียหายได้ไปพบโพสต์ข้อความประกาศในกลุ่มเฟซบุ๊กจีน รับทำบัตรประชาชนไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมจ่ายเงินค่าดำเนินการเป็นเงิน 1 ล้านบาท  จึงหลงเชื่อติดต่อไปพูดคุย 

 

จากนั้นนายลี ก็ได้นัดหมายพาไปทำบัตรประชาชนที่เทศบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา เมื่อถึงที่นัดหมายก็พาไปถ่ายรูปสแกนลายนิ้วมือ โดยมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเป็นคนดำเนินการ ประมาณช่วงเที่ยงวันก็ได้บัตร

 

หลังจากได้บัตรประชาชน ผู้เสียหายก็นำบัตรประชาชนดังกล่าว ไปทำเรื่องขอพาสปอร์ตที่กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ โดยมีนายลี เป็นคนพาไป ก่อนจะมีนายหน้าคนไทย พาไปนั่งรอที่ร้านกาแฟ

จากนั้นไม่นานก็มีตำรวจ ตม. 3 คน เดินเข้ามาจับกุมผู้เสียหายในความผิดฐานใช้บัตรประชาชนปลอม  แล้วพาตัวไปที่ทำการ ตม. พร้อมข่มขู่เรียกเงินจากผู้เสียหายจำนวน 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำคดี ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือ 2 ล้านบาท ด้วยความกลัวผู้เสียหายจึงยอมทำตาม

CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ CIB Game on รื้อระบบสยบจีนดำ

โดยจ่ายเงินให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. เป็นเงิน USDT ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงกลางดึกเวลาต่อมา หลังเกิดเรื่องด้วยความกลัวผู้เสียหายจึงเก็บเรื่องดังกล่าวไว้นานนับปี ก่อนจะตัดสินใจเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือกับทางตำรวจสอบสวนกลาง

 

พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการสืบสวน พบว่ามีการทำกันเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน ตั้งแต่คนทำหน้าที่ชักชวนเหยื่อ คือ นายลี กับ ภรรยาชาวเมียนมา กลุ่มคนทำหน้าที่จัดหาบัตรประชาชนที่จะนำมาสวมเป็นคนไทย

 

แนวทางสืบสวนพบว่าบัตรประชาชนดังกล่าวมีตัวตนจริง ก่อนมีการขายต่อแล้วไปแจ้งขอทำบัตรใหม่ และ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นที่เป็นคนออกบัตรให้ รวมไปถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. ที่ร่วมกันรีดทรัพย์ผู้เสียหายซึ่งพบว่ามีทั้งหมด 4 คน แบ่งกันทำหน้าที่รีดทรัพย์ ชี้เป้า ค้นหาข้อมูลบัตร รวมไปถึงคนรับเงิน 

 

ก่อนจะผ่องถ่ายไปยังบริษัทแห่งหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นนอมินีของทุนจีนเนื่องจากตรวจสอบข้อมูลของกรรมการบริษัทแต่ละคน เป็นเพียงชาวนา รับค่าจ้างเป็นรายเดือน จึงเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวเปิดขึ้นเพื่อใช้รับฟอกเงินผิดกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินยังพบว่ามียอดเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่แม่สอดและประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาอีกด้วย

 

นอกจากนี้จากการตรวจสอบเรายังพบว่า นายลี ยังมีหมายจับแดงติดตัวอีก 1 คดี จากคดีฉ้อโกงเงินผู้คนในประเทศจีน จำนวน 15,000 ล้านบาท มีผู้เสียหาย 3,000 คน เมื่อปี 2562

 

ก่อนจะหนีเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ในไทยเมื่อปี 2564 แล้วทำการสวมบัตรประชาชนหัวศูนย์ หรือ บัตรประชาชนที่ออกให้กลุ่มบุคคลที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเขา ชนเผ่าต่าง ๆ แต่พำนักอยู่ในไทยนานกว่า 10 ปี จึงได้รับการผ่อนผัน

 

โดยใช้การรับรองจากผู้นำชุมชนเพื่อออกบัตร ซึ่งบัตรดังกล่าว นายลี และ ภรรยาชาวเมียนมา ได้จ้างวานนายหน้าคนไทยทำให้คนละ 6 หมื่นบาท

 

พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังนายลี และ ภรรยา เข้ามาอยู่ในไทยได้ปกติ เจ้าตัวก็ผันตัวเองมาเป็นนายหน้าเปิดเพจรับพาคนจีนไปทำเอกสาร และบัตรประจำตัวต่างๆ  ก่อนจะเป็นคนชี้เป้าให้ตำรวจ ตม. มาจับกุมภายหลังเพื่อรีดเอาเงิน

 

รวมถึงจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมาอีก 15 บริษัท โดยไม่ได้มีการประกอบกิจการใดๆ ต้องสงสัยใช้กระทำผิดกฎหมาย เมื่อปรากฎความผิดแน่ชัดจึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด จนนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 6 รายดังกล่าว

 

จากการตรวจสอบประวัติการเข้าออกประเทศ พบว่า นายลี เริ่มเข้ามาไทยตั้งแต่ปี 2561 แต่เป็นการไปๆมาๆ โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว กระทั่งปี 2563 พอรู้ตัวว่าถูกออกหมายแดงในคดีฉ้อโกง 15,000 ล้านบาท ที่จีน จึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในไทยตลอดมา ส่วนที่เข้าไปอยู่ร่วมในขบวนการอุ้มรีดเงินร่วมกับทางตำรวจ ตม. ได้นั้น น่าจะมีนายหน้าขบวนการรับทำบัตรให้คนจีนเป็นคนเชื่อมต่อให้

 

พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า แม้การสอบปากคำ นายลี และ ภรรยา จะยังคงให้การปฏิเสธ แต่เจ้าหน้าที่เองก็มั่นใจในพยานหลักฐาน อีกทั้งจากการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา ยังพบรูปภาพและข้อมูลคนจีนที่ติดต่อว่าจ้างนายลี พาไปทำบัตรประชาชนอีกกว่า 10 ราย

 

รวมถึงจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินบริษัทของนายลี และ บริษัทนอมินีทุนจีน ที่ใช้รับโอนเงินจากการรีดทรัพย์ผู้เสียหาย เฉพาะเพียงช่วงเวลา 1 ปี พบว่า มีเงินที่มาจากธุรกิจผิดกฎหมายฝั่งปอยเปต และ ชายแดนแม่สอด เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เข้ามาหมุนเวียนในระบบกว่า 4-5 ร้อยล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งขยายผลสืบสวนต่อไป

 

ขณะที่ พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า สำหรับตัวนายลี เบื้องต้นจะถูกดำเนินคดีในไทยให้เสร็จสิ้นก่อน ขากนั้นจึงส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังจีนเพื่อดำเนินคดีในส่วนของหมายแดงต่อตามขั้นตอนกฎหมาย

 

ที่ผ่านมาเรามีการประสานข้อมูลร่วมกับจีนมาโดยตลอด เช่นเดียวกับคดีนี้ข้อมูลการสืบสวนที่ได้มา ก็มาจากทางจีน และ หลังจากนี้ก็ยังคงจะประสานข้อมูลร่วมกันกับจีนต่อเนื่องเพื่อร่วมกันกวาดล้างคนไม่ดีที่หลบหนีเข้ามากบดานในไทยให้หมดไป

 

สำหรับอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. ทั้ง 4 ราย ที่อยู่ร่วมขบวนการปลอมบัตรประชาชน รีดทรัพย์คนจีน กับนายลี ผู้ต้องหารายนี้ ประกอบด้วย พ.ต.ต.สรวิศ อินทร์ลับ ,พ.ต.ต.จิรภัทร บุญนำ, ร.ต.ท.สุริยะ รุกขชาติ และ ด.ต.พีระศักดิ์ ยิ้มไพบูลย์ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 4 คนนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หลังถูกจับกุมคดีร่วมกันอุ้มรีดทรัพย์ล่ามภาษาจีน และ เพื่อนชาวจีน เพื่อเรียกเงิน 10 ล้านบาท เมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

Thailand Web Stat