posttoday

สรุปชัด! "แผ่นดินไหวคลื่นยาว" ตัวการเขย่ากทม. สะเทือนข้ามพรมแดน

01 เมษายน 2568

สะเทือนข้ามพรมแดน! เจาะลึก "แผ่นดินไหวคลื่นยาว" ต้นเหตุเขย่าตึกสูง กทม. แม้ศูนย์กลางไกลถึง 1,100 กม. พร้อมเผยอีก 4 ปรากฏการณ์ตามหลังเหตุแผ่นดินไหว รู้ไว้ รับมือทัน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ที่มีศูนย์กลางในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา บนรอยเลื่อนสะกาย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายในพื้นที่ใกล้เคียง

 

แต่ยังส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 1,100 กิโลเมตร อย่างรุนแรงและยาวนาน จนสร้างความตื่นตระหนกและคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของเหตุแผ่นดินไหว

 

โดยเฉพาะการพังถล่มของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ตึกสตง.) สูง 30 ชั้นที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในเขตจตุจักร ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

 

ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของ "แผ่นดินไหวคลื่นยาว"  ภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงโดยเฉพาะ

 

สรุปชัด! \"แผ่นดินไหวคลื่นยาว\" ตัวการเขย่ากทม. สะเทือนข้ามพรมแดน

 

ไขปริศนาแรงสั่นสะเทือนข้ามพรมแดน

 

ตามข้อมูลจาก Weathernews บริษัทพยากรณ์อากาศและเตือนภัยชั้นนำของญี่ปุ่น ได้วิเคราะห์เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้น ณ เวลา 13.20 น. ตามเวลาประเทศไทย

 

ด้วยความลึกเพียง 10 กิโลเมตร ทำให้แรงสั่นสะเทือนกระจายเป็นวงกว้าง รับรู้ได้ถึงประเทศจีน รวมถึงหลายภูมิภาคของไทยตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคกลางและกรุงเทพฯ ทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมากว่า 40 ครั้ง

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะอยู่ไกล แต่ตึกสูงในกรุงเทพฯ กลับสั่นไหวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

 

Weathernews ชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจากอิทธิพลของ "แผ่นดินไหวคลื่นยาว" (Long-period Ground Motion)

 

ซึ่งเป็นคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะพิเศษคือ มีคาบการสั่นยาว (ตั้งแต่ 2 วินาทีขึ้นไป) และมีความถี่ต่ำ ทำให้สามารถเดินทางไปได้ในระยะทางไกลมาก

 

สรุปชัด! \"แผ่นดินไหวคลื่นยาว\" ตัวการเขย่ากทม. สะเทือนข้ามพรมแดน

 

ทำไมแผ่นดินไหว "คลื่นยาว" ถึงอันตรายต่อตึกสูง?

 

ลักษณะสำคัญของแผ่นดินไหวคลื่นยาวคือ ทำให้ตึกที่มีโครงสร้างสูงเกิดการขยายตัว หรือเกิด "การสั่นพ้อง" (Resonance) ซึ่งหมายถึงการที่โครงสร้างนั้นๆ สั่นด้วยความถี่ที่ตรงกับความถี่ของคลื่นแผ่นดินไหวพอดี

 

ทำให้การสั่นสะเทือนถูกขยายให้รุนแรงมากขึ้น เปรียบเสมือนการผลักชิงช้าให้แกว่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจังหวะที่พอดี

 

เมื่อตึกสูงเกิดการสั่นพ้องกับแผ่นดินไหวคลื่นยาว การสั่นไหวจะรุนแรงและยาวนานกว่าปกติ หากโครงสร้างของตึกไม่แข็งแรงพอ

 

หรือไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการสั่นไหวลักษณะนี้ อาจเกิดความเสียหายรุนแรง หรือถึงขั้นพังถล่มลงมาได้ดังเช่นกรณีอาคาร สตง.

 

ในทางกลับกัน อาคารเตี้ยหรือโครงสร้างขนาดเล็กซึ่งมีคาบการสั่นตามธรรมชาติต่างออกไป จะไม่เกิดการสั่นพ้องกับคลื่นยาวนี้ จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า

สรุปชัด! \"แผ่นดินไหวคลื่นยาว\" ตัวการเขย่ากทม. สะเทือนข้ามพรมแดน

แผ่นดินไหว "คลื่นยาว" ต่างจากแผ่นดินไหวทั่วไปอย่างไร?

 

โดยทั่วไป เรามักคุ้นเคยกับ "คลื่นแผ่นดินไหวปกติ" หรือคลื่นสั้น ซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนที่ถี่และรวดเร็ว เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ (น้อยกว่า 1-2 วินาที)

 

คลื่นประเภทนี้จะส่งผลกระทบต่ออาคารเตี้ยที่มีโครงสร้างแข็ง (Rigid) มากกว่า เนื่องจากโครงสร้างแข็งไม่สามารถยืดหยุ่นเพื่อซับแรงสั่นถี่ๆ ได้ดี

 

ในขณะที่ตึกสูงซึ่งมีความยืดหยุ่น (Flexible) จะสามารถโยกตัวตามแรงสั่นความถี่สูงได้ดีกว่า จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากคลื่นสั้น

 

สรุปชัด! \"แผ่นดินไหวคลื่นยาว\" ตัวการเขย่ากทม. สะเทือนข้ามพรมแดน

ปรากฏการณ์ที่อาจตามมาหลังแผ่นดินไหว

 

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีเผยว่า นอกจากการสั่นไหวโดยตรงแล้ว แผ่นดินไหวรุนแรงยังอาจก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอื่นๆ ตามมาได้ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายและควรเฝ้าระวัง ได้แก่

 

 

1. แผ่นดินไหวตาม (Aftershock)

 

เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กกว่าที่เกิดขึ้นตามมาในบริเวณเดิม หลังจากการเกิดแผ่นดินไหวหลัก เกิดจากการปรับสมดุลของชั้นหินใต้เปลือกโลก แม้จะเบากว่า แต่ก็สามารถสร้างความเสียหายเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับอาคารที่อ่อนแออยู่แล้ว

 

2. หลุมยุบ (Sinkhole)

 

แรงสั่นสะเทือนอาจทำให้โพรงใต้ดินที่เกิดจากการละลายของชั้นหิน เช่น หินปูน ยุบตัวลง เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่บนพื้นผิว เคยมีรายงานการเกิดหลุมยุบจำนวนมากในภาคใต้ของไทยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2547

 

3. ทรายพุ หรือ ทรายเดือด (Liquefaction)

 

เกิดขึ้นในบริเวณที่ชั้นดินด้านล่างเป็นทรายที่อิ่มตัวด้วยน้ำ เมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือน ดินทรายจะสูญเสียกำลังรับน้ำหนัก กลายสภาพคล้ายของเหลว และอาจพุขึ้นมาบนผิวดิน ทำให้สิ่งปลูกสร้างด้านบนทรุดตัวหรือเอียงได้

 

4. แผ่นดินถล่ม (Landslide)

 

ในพื้นที่ลาดชัน เช่น ภูเขาหรือเนินเขา แรงสั่นสะเทือนสามารถทำให้มวลดินหรือหินที่ไม่เสถียรเคลื่อนตัวถล่มลงมา สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน เส้นทางคมนาคม และอาจกีดขวางทางน้ำจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวจากเมียนมาครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญถึงภัยจากแผ่นดินไหวคลื่นยาว ที่สามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อมหานครอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยอาคารสูง

 

แม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวก็ตาม การทำความเข้าใจธรรมชาติของคลื่นแผ่นดินไหวประเภทต่างๆ

 

รวมถึงการออกแบบและก่อสร้างอาคารให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้อย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและลดความสูญเสียในอนาคต