posttoday
ผู้สูงวัยเห็นพ้อง "ขยายอายุเกษียณงาน" สุขภาพดีสร้างประโยชน์ได้

ผู้สูงวัยเห็นพ้อง "ขยายอายุเกษียณงาน" สุขภาพดีสร้างประโยชน์ได้

13 เมษายน 2568

นิด้าโพลชี้ผู้สูงวัยเห็นด้วยขยายอายุเกษียณงาน เป็น 65 ปี เหตุสุขภาพยังดี ทำงานสร้างประโยชน์ได้ มีเวลาทำงานสร้างรายได้ต่อเนื่อง ช่วยเกื้อกูลไม่เป็นภาระลูกหลาน

KEY

POINTS

  • นิด้าโพลชี้ผู้สูงวัยเห็นด้วยขยายอายุเกษียณงาน เป็น 65 ปี เหตุสุขภาพยังดี ทำงานสร้างประโยชน์ได้

เนื่องในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “ผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปี แล้วยังต้องการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพต่ออีกหรือ ?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2568

จากประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่มีต่อการทำงานหลังวัยเกษียณ

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
 
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของผู้สูงอายุและเหตุผลที่มีต่อนโยบายการขยายอายุเกษียณงาน (จากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี) พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 57.71 ระบุว่า เห็นด้วย ในขณะที่ ร้อยละ 42.29 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย โดยในจำนวนผู้ที่เห็นด้วยนั้น ร้อยละ 79.50 ให้เหตุผลเพราะว่า สุขภาพยังดี ยังสามารถทำงานสร้างประโยชน์ได้

รองลงมา ร้อยละ 77.12 ระบุว่า มีเวลาทำงานสร้างรายได้ได้ต่อเนื่อง และร้อยละ 36.64 ระบุว่า ช่วยเกื้อกูลลูกหลานได้ ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน

ส่วนในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้น ร้อยละ 69.86 ให้เหตุผลเพราะว่า ปัญหาสุขภาพ รองลงมา ร้อยละ 37.55 ระบุว่า เสียโอกาสทำในสิ่งที่ตนเองชอบ เนื่องจากยังต้องทำงานต่อ ร้อยละ 33.94 ระบุว่า เวลาในการได้รับสิทธิประโยชน์เงินประกันชราภาพ/เงินบำเหน็จ/เงินบำนาญต้องเลื่อนออกไป

และร้อยละ 7.40 ระบุอื่น ๆ เช่น เป็นการลดโอกาสการเข้ามาทำงานของคนรุ่นใหม่

ด้านสถานะการทำงานและเหตุผลของการทำงานของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 65.50 ระบุว่า ไม่ได้ทำงาน ในขณะที่ ร้อยละ 34.50 ระบุว่า ทำงาน โดยในจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานนั้น ร้อยละ 50.82 ให้เหตุผลเพราะว่า สุขภาพไม่ดี

รองลงมา ร้อยละ 44.29 ระบุว่า ลูกหลานไม่อยากให้ทำงาน ร้อยละ 26.34 ระบุว่า มีเงินออมเพียงพอแล้ว ร้อยละ 14.10 ระบุว่า ไม่ชอบ/เบื่อระบบการทำงานที่เคยทำ และร้อยละ 0.82 ระบุอื่น ๆ เช่น ไม่มีคนจ้างงาน

ส่วนในจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานนั้น ร้อยละ 84.29 ให้เหตุผลเพราะว่าต้องการรายได้ รองลงมา ร้อยละ 70.58 ระบุว่า สุขภาพยังดีอยู่ ร้อยละ 37.39 ระบุว่า เกื้อกูลลูกหลานได้ และร้อยละ 36.06 ระบุว่า ไม่เหงา มีเพื่อนฝูง/คนรู้จัก
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามผู้สูงอายุที่ยังทำงาน (จำนวน 452 หน่วยตัวอย่าง) ถึงเรื่องที่คาดหวังจากรัฐบาลในการช่วยเหลือเกี่ยวกับการทำงาน พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 75.00 ระบุว่า มีระบบประกันสุขภาพที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น (ทั้งทางเลือกที่มากขึ้น และค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง)

รองลงมา ร้อยละ 38.72 ระบุว่า มีระบบพัฒนาทักษะให้เหมาะกับงานสำหรับผู้สูงอายุ ร้อยละ 23.67 ระบุว่า มีความยืดหยุ่นในด้านชั่วโมงทำงาน ร้อยละ 22.79 ระบุว่า มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ร้อยละ 19.69 ระบุว่า ลดชั่วโมงทำงาน และร้อยละ 7.74 ระบุว่า มีระบบการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงวัยเห็นพ้อง \"ขยายอายุเกษียณงาน\" สุขภาพดีสร้างประโยชน์ได้

Thailand Web Stat