posttoday

“โรคกลัวตกกระแส” ภัยเงียบบั่นทอนเยาวชน ในยุคโซเชียลมีเดียเบ่งบาน

08 ตุลาคม 2567

ชวนรู้จัก “โรคกลัวตกกระแส” กับผลกระทบทางสุขภาพจิต หลังมีผลสำรวจเผยว่า ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์มากขึ้น แต่ยังหยุดเล่นโซเชียลไม่ได้เพราะกังวลว่าจะพลาดประเด็นสำคัญบนโลกออนไลน์

ในยุคดิจิทัลที่การเชื่อมต่อออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน ผลสำรวจจาก Girlguiding องค์กรการกุศลสำหรับเยาวชนเพศหญิงในสหราชอาณาจักรชี้ให้เห็นว่า เด็กสาวที่มีอายุระหว่าง 11-21 ปี ต้องเผชิญกับภัยคุกคามบนโลกออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคามทางเพศ หรือการแสดงอคติทางเพศ แต่เด็กสาวส่วนใหญ่ยังคงใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง จากเหตุผลหลักคือ “กลัวตกกระแส (FOMO)” 

“โรคกลัวตกกระแส” ภัยเงียบบั่นทอนเยาวชน ในยุคโซเชียลมีเดียเบ่งบาน

“โรคกลัวตกกระแส” คืออะไร

“โรคกลัวตกกระแส” หรือ FOMO (Fear of Missing Out) คือความรู้สึกวิตกกังวลว่าเราอาจพลาดช่วงเวลาดีๆ หรือประสบการณ์สนุก ๆ ที่คนอื่นกำลังทำอยู่ ทำให้เราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม อยากรู้ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว และกลัวที่จะตกเทรนด์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา 

สิ่งที่ตามมาจากโรคกลัวตกกระแส คือความเครียดและวิตกกังวลจากความพยายามตามเทรนด์ให้ทันอย่างต่อเนื่อง จนหลายครั้งผู้ใช้โซเชียลมีเดียเกิดการเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับคนอื่นๆ ส่งผลให้รู้สึกด้อยค่าในตัวเองและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ

ผลสำรวจจาก Girlguiding เผยว่า ตัวเลขของเด็กสาวที่ถูกสะกดรอยตามทางออนไลน์ รวมถึงการแสดงออกถึงความเกลียดชังในเพศหญิงเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นสถิติที่น่ากังวล จนทำให้เด็กผู้หญิงหลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต

“โรคกลัวตกกระแส” ภัยเงียบบั่นทอนเยาวชน ในยุคโซเชียลมีเดียเบ่งบาน

Jiya เด็กสาววัย 17 ปี ตัวแทนของ Girlguiding เผยว่า มาตรฐานความงาม (Beauty Standard) เป็นหนึ่งปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อเพศหญิงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความเห็นของชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ เราไม่สามารถสืบค้นตัวตนที่แท้จริงของผู้แสดงความเห็นได้

ดังนั้น มุกตลกเหยียดเพศ การประณามรูปร่าง การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในโลกอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบัน ส่งผลให้เด็กผู้หญิงจำนวนไม่น้อยรู้สึกตัวเองไร้คุณค่า เมื่อถูกบั่นทอนความมั่นใจจากความเห็นของชาวเน็ต 

ทั้งนี้ หนึ่งในบทบาทสำคัญของผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาคือการสอนให้เด็กตระหนักถึงความเป็นจริงของโลกโซเชียลมีเดีย สอนให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดียเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตคนๆ หนึ่ง ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด การสอนให้เด็กมีวิจารณญาณในการบริโภคข้อมูลออนไลน์จะช่วยลดแรงกดดันจากการเปรียบเทียบตนเองกับภาพลวงตาของความสมบูรณ์แบบที่มักพบเห็นในโซเชียลมีเดีย