posttoday

เปิดสาเหตุ แมนยูไล่"เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน" พ้นทีม มากกว่าเหตุผลการเงิน

16 ตุลาคม 2567

การไล่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ออกจากตำแหน่งทูตของทีมแมนยู เป็นข่าวใหญ่ในวงการฟุตบอล ทั้งที่ชายวัย 82 ปีคนนี้ คือคนที่ปลุกผีแมนยูให้กลับมายิ่งใหญ่จนกลายเป็นทีมมูลค่าหลักแสนล้านบาท อะไรเป็นเหตุให้สโมสรแมนยูไนเต็ดทำเช่นนั้น โพสต์ ทูเดย์พาไปหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือจากการทำทีมให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมานาน 11 ปี ตั้งแต่เขาก้าวลงจากตำแหน่งหลังพาทีมได้แชมป์พรีเมียร์ลีกในปี 2013  ก่อนที่จะรับงานเป็นทูตประจำสโมสร พร้อมดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการของสโมสร ที่ทำหน้าที่มากนานถึง 26 ปี

หลังจากนั้นแฟนบอลทุกคนจะได้พบเจอเซอร์อเล็กซ์ เสมอในเกือบจะทุกเกมที่แมนยูไนเต็ดลงสนามไม่ว่าจะการเป็นการเล่นในบ้าน หรือออกไปเยือนคู่แข่ง รวมถึงเกมฟุตบอลถ้วยยุโรป จะได้เห็นอดีตนายใหญ่ชาวสกอตฯอยู่บนอัฒจันทร์ทุกครั้ง

แต่นั่นคือ 1 ใน Job ที่ท่านเซอร์ได้รับจาก เจ้าของทีมอย่างตระกูลเกลเซอร์ ที่ให้เซอร์อเล็กซ์เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ รวมถึงเป็นทูตให้กับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งท่านเซอร์จะได้รับเงินปีละ 2.16 ล้านนปอนด์ (108 ล้านบาท) ต่อปี และท่านเซอร์อเล็กซ์ก็ได้เงินก้อนนี้มาตลอด 11 ปีที่เขาลงจากตำแหน่ง

ที่สำคัญหลังประกาศเลิกให้เงินเดือน "เซอร์ อเล็กซ์" สโมสรประหยัดเงินได้ 0.3% ต่อปี มันน้อยนิดมาก และเทียบไม่ได้กับค่าเหนื่อยนักเตะแมนยูซึ่งแพงสุดคือมาร์คัสแรชฟอร์ดรับที่ 3.5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์

ภาพที่คุ้นตาเซอร์ อเล็กซ์มักพูดคุยวิเคราะห์เกมกับเจสัน วิลค็อกซ์
 

ทว่าเมื่อวันอังคารที่ 15 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เมื่อกลุ่ม Ineos เจ้าของร่วมกลุ่มใหม่ของทีม นำโดยเซอร์จิม แรตคลิฟท์ ที่ออกนโยบายลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของทีมมาตลอด ก็เลือกที่จะเลิกจ่ายเงินก้อนนี้ให้กับ อดีตบรมกุนซือที่พาทีม "ปิศาจแดง" ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร

โดย ดิ แอตเลติก ออกมาเปิดเผยว่า ข้อตกลงของการเป็นทูตของสโมสรที่ทำสัญญาไว้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ได้ถูกทางอิเนออส ยกเลิกแล้ว และทางบอร์ดบริหารก็ได้แจ้งท่านเซอร์เรียบร้อย โดยข้อตกลงระหว่างทั้ง 2 ทีมเป็นไปได้ด้วยดี

ทั้งนี้แมนยูจะลดรายจ่ายไปได้ถึงปีละ 2.16 ล้านปอนด์ และทาง เซอร์ อเล็กซ์ นั้นยังดำรงตำแหน่งบอร์ดบริหารต่อไป แต่เป็นเพียงในนามเท่านั้น และก็ยังสามารถเข้ามาชมเกมในนัดต่างๆได้เช่นเดิม

เซอร์จิม แรตคลิฟต์ แฟนบอลตัวยงวัย 71 ปีของแมนยู กับบทบาทการเป็นเจ้าของทีมร่วมในฐานะกลุ่ม อินิออส

และการปลดเซอร์อเล็กซ์ คือ 1 ในโปรเจคต์ลดรายจ่ายของพวก อิเนออส หลังจากก่อนหน้านี้ ก็ลดปลดพนักงานไปแล้วกว่า 250 คน

การลดรายจ่ายปีละ 2.16 ล้านปอนด์ เป็นจำนวนมากหรือไม่ หากมองในมุมธุรกิจและการเป็นเจ้าของทีมมุมนี้คือมุมที่มากมาย แต่หากมองในมุมที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมาเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 13 ครั้ง แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกอีก 2 ครั้ง เอฟเอคัพ 5 สมัย ลีกคัพ 4 สมัย แชมเปี้ยนส์ลีก 2 สมัย คลับเวิลด์คัพ 1 สมัย และแชมเปี้ยนชิพสโมสรโลก 1 สมัย

รวมถึงปั้นแบรนด์ แมนฯยูไนเต็ด ให้โด่งดังไปทั่วโลก ทุกอย่างที่เป็นแมนยูขายได้หมดในยุคของเซอร์อเล็กซ์ 

เงินจำนวน 2.16 ล้านปอนด์ที่ Ineos เลือกที่จะ "เขียม" นั้นไม่มากเลยเมื่อเทียบกันสิ่งที่    เซอร์อเล็กซ์ทำ
แชมป?มากมายหลายสมัยในยุคของเซอร์อเล็กซ์ ทำเงินให้แมนยูมากมายทั้งลิขสิทธิ์ขายของและการขายนักฟุตบอลในทีม

เบื้องลึกที่มากกว่าเม็ดเงินที่แมนยูต้องจ่ายให้เซอร์อเล็กซ์

ทีนี้มีอะไรที่ลึกไปกว่านั้นหรือไม่ ? นี่คือคำถามที่หลายคนอยากค้นหาคำตอบว่าเพราะอะไร เซอร์จิม แรตคลิฟท์ เลือกที่จะตัดบทบาทของเซอร์อเล็กซ์ออกไปให้เหลือแต่เพียงแค่มีสิทธิ์มานั่งชมเกมอย่างเดียว

ต้องไม่ลืมว่าการมาเป็นเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ร่วมของ เซอร์จิม แรตคลิฟท์ เขาแบก KPI เรื่องการบริหารทีมในด้านฟุตบอล เช่นเดียวกับรายรายจ่ายการซื้อนักเตะและบริหารการเงินให้หุ้นสโมสรพุ่งสูงนั้นกลุ่มของเซอร์จิมก็ต้องรับผิดชอบ

ที่ผ่านมาเซอร์อเล็กซ์ ยังมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาและช่วยในการตัดสินในหลายต่อหลายอย่าง (เพราะตระกูลเกลเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอล)

ยกตัวอย่าง เดวิด มอยส์ กุนซือคนแรกที่เซอร์ อเล็กซ์ ผลักดันให้มาทำทีมต่อจากเขา นั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าและมอยส์ก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่งหลังทำงานไปแค่ 8 เดือน

หรืออีกเคสที่สำคัญคือมีส่วนสำคัญในการ โน้มน้าว คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ให้กลับมาเล่นกับแมนยูอีกครั้ง หลังจากที่โรนัลโด้ เกือบที่จะไปอยู่กับแมนซิตี้นั่นเอง

ซึ่งการตัดวงจรและอำนาจของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันนั้น Ineos มองว่าคือสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้บอร์ดบริหารของทีมอย่าง โอมาร์ เบอร์ราด้า CEO ของทีม , แดน แอชเวิร์ธ ผู้อำนวยการกีฬา , เจสัน วิลค็อกซ์ ผู้อำนวยการเทคนิค ได้ทำงานอย่างเต็มที่ปราศจากเงาของ "เฟอร์กี้" 

กลุ่มบอร์ดบริหารชุดใหม่ของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

รวมไปถึงการสั่งห้ามมิให้เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เข้าไปในห้องแต่งตัวนักฟุตบอลด้วย ซึ่งนี่คือการทำลายประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุค เซอร์ แมตต์ บัสบี้ เลยทีเดียว

ซึ่งการเข้าไปในห้องแต่งตัวดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของ ยอดทีมสีแดงแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ ที่สืบทอดมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยทาง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน รวมถึงบอร์ดบริหารฟุตบอลคนอื่นๆ อย่าง เดวิด กิลล์ ได้รับการต้อนรับเสมอมา รวมถึง เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน และ เซอร์ แมตต์ บัสบี

เซอร์ อเล็กซ์ในวันเปิดตัวซีรีย์ Never give in ร่วมกับกลุ่มนักเตะแมนยูเมื่อปี 2022

ซึ่งเรื่องนี้ เดลี่ เมล เปิดเผยจากแหล่งข่าวคนใกล้ชิดในสโมสรว่า แมนฯ ยูไนเต็ดปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งห้ามเฟอร์กูสันเข้าห้องแต่งตัวโดยตรง แต่ยืนยันว่าตอนนี้มี "ความเข้าใจร่วมกัน" ว่าใครจะเข้าไปข้างใน 

การเข้าไปพูดคุยกับนักเตะมีมาตั้งแต่สมัยเซอร์ แมตต์ บัสบี้แล้ว

หากไม่ได้เงินเดือนจากแมนยู เซอร์ อเล็กซ์จะมีรายได้จากทางไหน

เรื่องการวางแผนการเงิน เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในวัย 82 ปี นั้นไม่มีปัญหา เขาเคยเล่าในหนังสืออัตชีวประวัติส่วนตัวว่า เขาโตมาจากครอยครัวแรงงาน การได้เงินมาใช้ในแต่ละวันเป็นเรื่องยากลำบากและการวางแผนทางการเงินคือสิ่งที่เขาทำมาตลอดตั้งแต่เป็นนักฟุตบอลกับทีมเรนเจอร์ส

หลังจากเกษียณจากวงการฟุตบอล เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันมีธุรกิจของตัวเอง ชื่อว่า ACF Sports Promotions Ltd โดยมีลูกชายคือ มาร์ก , ดาร์เรน และเจสัน เป็นกรรมการบริหาร เลดี้แคธี่ ภรรยาผู้ล่วงลับของเซอร์อเล็กซ์ก็ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารเช่นกัน ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในวัย 84 ปีในเดือนตุลาคม 2023

ตามรายงานทางการเงินล่าสุด ACF มีสินทรัพย์และการลงทุน 24.3 ล้านปอนด์ ตัวเลขสำหรับปีที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2023 เพิ่มขึ้นจาก 22.7 ล้านปอนด์ที่ถือครองเมื่อ 12 เดือนก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านปอนด์

ซีรีย์ชีวประวัติของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังรันรายได้เข้าบัญชีตลอดเวลา

ลักษณะของธุรกิจมีรายชื่อ "กิจกรรมกีฬาอื่นๆ" โดยเซอร์อเล็กซ์ได้รับเงินจากการทำข้อตกลงหนังสือ การกล่าวสุนทรพจน์ในงานต่างๆ และการปรากฏตัวส่วนตัวตั้งแต่เกษียณจากตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ACF มีเงินสำรอง 5.1 ล้านปอนด์ และจ่ายภาษีนิติบุคคลไปแล้ว 188,832 ปอนด์ 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีของที่ระลึกเกี่ยวกับฟุตบอลมูลค่า 2 ล้านปอนด์ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์และมหาวิทยาลัยต่างๆ

เซอร์อเล็กซ์ก่อตั้งบริษัทในปี 1983 โดยใช้ชื่อย่อของเขาเอง ซึ่งรวมถึงชื่อกลางของเขา 'แชปแมน' อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งเคยบริหารเซนต์เมียร์เรน อเบอร์ดีน และสกอตแลนด์ มีรายงานว่ามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (53.5 ล้านปอนด์) ตามรายงานของ Celebrity Net Worth

ดังนั้นการปลดเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันออกไป ด้วยข้ออ้างของ "อิเนออส"ที่บอกว่าอยากลดค่าใช้จ่ายปีละ 2.16 ล้านปอนด์นั้น เป็นเงินน้อยนิดมาก เพราะเซอร์ อเล็กซ์ ยังมีรายได้จากธุรกิจของเขาเองเป็น แพสซิฟ อินคัม ที่เข้าบัญชีต่อปีมากกว่าที่แมนฯ ยูไนเต็ดให้เสียอีก

หลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นหน้า เห็นตาเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เข้าไปชมเกมในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด บ้างเป็นครั้งคราว หรือไม่ก็อาจจะไม่เห็นหน้าเลย เพราะการปลดท่านเซอร์ออกไป ไม่ใช่แค่การปลดคน แต่มันคือการถอดผู้นำจิตวิญญาณที่สร้างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดให้กลับมาเป็นทีมระดับแถวหน้าของโลกนั่นเอง

รูปปั้นเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คือสิ่งเดียวที่ยังยั่งยืนกับแมนยู