posttoday

หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย หวัง IOC พิจารณาเคส "เคลิฟ" หลังผลตรวจยันเป็นชาย

06 พฤศจิกายน 2567

ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติไทย หวังว่า IOC หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จะออกแอ๊คชั่นพิจารณาจากกรณีที่ ผลการตรวจเพศ "อิมาน เคลิฟ" นักมวยเหรียญทอง โอลิมปิก 2024 ถูกตรวจพบว่า มีโครโมโซม XY และเธอเป็นผู้ชาย

"อิมาน เคลิฟ" นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก 2024 จากแอลจีเรีย กลับกลายเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังนักข่าวชาวฝรั่งเศส ได้ออกมาเปิดภาพเอกสารการตรวจเพศจากโรงพยาบาลในฝรั่งเศส และแอลจีเรียของ เคลิฟ 

พบว่า เคลิฟ มีโครโมโซมเป็น XY หรือโครโมโซมของเพศชาย รวมถึงการมีอัณฑะภายใน, มีองคชาตขนาดเล็ก และไม่มีมดลูก เอกสารดังกล่าวระบุว่า เคลิฟมีภาวะขาดเอนไซม์ 5-alpha reductase ที่มักถูกกำหนดให้เป็นเพศหญิงเมื่อแรกเกิด โดยพิจารณาจากอวัยวะเพศภายนอก
 

ด้านนาย ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติไทย ออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า หวังว่าทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี IOC จะออกมามาพิจาณาถึงกรณีนี้ เพราะเคลิฟ คว้าเหรียญทองมวยสากลสมัครเล่นหญิงในโอลิมปิก 2024 ส่วน"บี" จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง ที่แพ้เคลิฟและได้เหรียญทองแดงในรุ่นดังกล่าว ก็อาจจะมีลุ้นขยับเหรียญขึ้นมาหากผลตรวจเพศของเคลอฟ มีผลต่อเหรียญโอลิมปิกจริง

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 "อิมาน เคลิฟ" ตกเป็นประเด็นร้อนในโอลิมปิกปารีส 2024 หลัง "แองเจลา คารินี" นักชกหญิงชาวอิตาลี ขอถอนตัวจากการแข่งขันหลังขึ้นชกกับเคลิฟ ในเวลาเพียง 46 วินาที นอกจากนี้เคลิฟ ยังเป็น 1 ใน 2 นักมวย ที่เป็นตกเป็นประเด็นร่วมกับ หลิน ยู่ติง นักชกจากไต้หวัน เรื่องการตรวจเพศ

ซึ่งหลังคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2024 เคลิฟ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยยืนยันอีกครั้งว่า เธอเกิดมาเป็นผู้หญิง ใช้ชีวิตอย่างผู้หญิง และมีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าร่วมโอลิมปิกหนนี้

ตอนนี้คนทั้งโลกรู้เรื่องราวของเธอ และเธออยากส่งข้อความถึงทุกคนว่า พวกเขาควรยึดมั่นในหลักการของกีฬาโอลิมปิก และหลีกเลี่ยงการกลั่นแกล้ง เธอหวังว่าจะไม่เห็นการโจมตีลักษณะเดียวกันนี้ ในการแข่งขันโอลิมปิกในอนาคต ขณะเดียวกัน เคลิฟยังขอบคุณทุกกำลังใจ และพลังบวกที่ส่งให้เธอ
หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย หวัง IOC พิจารณาเคส \"เคลิฟ\" หลังผลตรวจยันเป็นชาย

ย้อนคำพูด IOC ปกป้อง "เคลิฟ" 

การได้เหรียญทองโอลิมปิก 2024 ของเคลิฟ ทำให้เกณฑ์ต่างๆในการเลือกนักกีฬากลายเป็นข้อโต้แย้งระดับนานาชาติ ซึ่ง IOC เลือกที่จะตำหนิ IBA สำหรับการตัดสินใจ "ตามอำเภอใจ" ในการตัดสิทธิ์หลินและเคลิฟเมื่อปี2023 (ถอดชื่อ 2 คนนี้ที่มีโครโมโซมเพศชายมากกว่ากำหนดออกจากทุกการแข่งขัน)

"นักกีฬาทั้งสองคนนี้เป็นเหยื่อของการตัดสินใจอย่างฉับพลันและตามอำเภอใจของ IBA" มาร์ค อดัมส์ โฆษกของ IOC กล่าว

“เมื่อใกล้จะสิ้นสุดการแข่งขันชิงแชมป์โลก IBA ในปี 2023 พวกเขาก็ถูกตัดสิทธิ์อย่างกะทันหันโดยไม่มีกระบวนการทางกฎหมายใดๆ "ตามบันทึกการประชุมของ IBA ที่มีอยู่ในเว็บไซต์ ในตอนแรกนั้น เลขาธิการและซีอีโอของ IBA เป็นคนตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว"

IOC อ้างว่านักชกต่างๆได้เข้าแข่งขันชกมวยสากลระดับนานาชาติมาหลายปีแล้วในประเภทหญิง รวมถึงโอลิมปิกที่โตเกียวซึ่งจัดขึ้นในปี 2021 และการแข่งขันชิงแชมป์โลกอื่นๆ และการแข่งขันที่ได้รับการรับรองจาก IBA

“การกระทำที่ก้าวร้าวต่อนักกีฬาทั้งสองคนในปัจจุบันเกิดจากการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบโดยสิ้นเชิง โดยไม่มีขั้นตอนที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่านักกีฬาทั้งสองคนนี้ได้เข้าแข่งขันในระดับสูงสุดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว” แถลงการณ์ระบุต่อ

“ไอโอซีเสียใจกับการถูกละเมิดที่นักกีฬาทั้งสองคนกำลังได้รับอยู่ในขณะนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเล่นกีฬาโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ”

"IOC พยายามอยู่เสมอที่จะสร้างสมดุลระหว่างความครอบคลุมและความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องยาก และเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา"

“นั่นเป็นคำถามที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิงจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งก็คือเมื่อนักมวยหญิงถูกตีตราและอาจถูกบีบให้ออกจากการแข่งขัน”

หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย หวัง IOC พิจารณาเคส \"เคลิฟ\" หลังผลตรวจยันเป็นชาย
อธิบายฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินปกติ

ตามปกติแล้วผู้หญิงจะมีโครโมโซม XX 2 ตัว และผู้ชายมี XY แต่การตรวจเพศ ของ อิมาน เคลิฟ นักมวยหญิงชาวแอลจีเรีย พบว่ามี โครโมโซม XY ซึ่งเท่ากับว่าเธอมีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 

ซึ่งที่ผ่านมาเธอ (เขา) เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะเพศหญิงมาตลอดในหลายๆรายการ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไม "ไอบ้า" ถึงแบนเธอไม่ให้ชกในรายการชิงแชมป์โลก (รวมถึงหลายรายการที่ไอบ้าจัด) เพราะเป็นการเอาเปรียบคู่ชกคนอื่นที่มีโครโมโซมเป็นหญิงแท้ปกติ

แต่โอลิมปิก คือกีฬาแห่งความเท่าเทียมตามนิยามของ IOC หรือ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ทำให้ IOC ยกเลิกนโยบายการทดสอบเพศและแทนที่ด้วยนโยบายใหม่ที่พวกเขาบอกว่ามีความยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติตามเพศสภาพ (gender identity) และการแปรเปลี่ยนเพศ (sex variation)

IOC ตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Paris Boxing Unit (PBU) เพื่อกำหนดคุณสมบัติของนักมวยในการแข่งขัน โดยเอกสารจาก PBU ไม่ได้กล่าวถึงการทดสอบเพศสำหรับชายหรือหญิง แต่กำหนดเกณฑ์อายุของนักกีฬาและการใช้พาสปอร์ตเป็นบัตรประจำตัวที่ยอมรับได้

นี่อาจเป็นช่องว่างให้หลายประเทศที่อนุญาตให้สิทธิในการเลือก "นาย" "นาง" และ "นางสาว" ด้วยตัวเอง ใช้ช่องว่างตรงนี้ (ความเท่าเทียม) มาเอาเปรียบนักกีฬาที่แข่งตรงกับเพศสภาพของตัวเองได้