เผยเบื้องหลังเทคนิคสร้างโลกแอฟริกาสุดล้ำใน "Disney's Mufasa: The Lion King"
เปิดเบื้องหลังการถ่ายทำ "Disney's Mufasa: The Lion King" ผสานเทคโนโลยีอะไรบ้างที่ช่วยสร้างโลกแอฟริกาได้อย่างสมจริง
ในช่วงส่งท้ายปี 2567 ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ "Disney's Mufasa: The Lion King" ได้เรียกเสียงฮือฮาและกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นทั่วโลก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงตอกย้ำความสำเร็จของแฟรนไชส์ "เดอะ ไลอ้อน คิง" เท่านั้น แต่ยังได้เปิดเผยเรื่องราวต้นกำเนิดของ "มูฟาซา" ราชาแห่ง Pride Lands อย่างน่าประทับใจ จากผลงานการกำกับของแบร์รี่ เจนกินส์ (Barry Jenkins) และทีมโปรดักชันที่ได้สร้างสรรค์ภาพยนตร์แอนิเมชันสุดสมจริงจนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางภาพยนตร์ที่น่าจับตามอง
เทคนิคสุดล้ำ เจาะลึกเบื้องหลังการสร้าง Disney's Mufasa: The Lion King
แบร์รี่ เจนกินส์ (Barry Jenkins) ได้เริ่มสร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่อง “Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง” ในปี 2020 โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับองค์ประกอบทางภาพและอารมณ์ของภาพยนตร์
แม้จะได้แรงบันดาลมาจากภาพยนตร์และละครเวทีเรื่อง The Lion King ที่ผู้คนชื่นชอบ แต่เขาตั้งใจว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง” เจนกินส์จึงเลือกผสมผสานเทคนิคการสร้างภาพยนตร์แบบ Live-action เข้ากับการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์แบบสมจริง (Photoreal Computer-Generated Imagery) โดยทำงานร่วมกับแอนิเมเตอร์และดิจิทัลอาร์ตติสของ Moving Picture Company (MPC) ทีมที่เคยมอบชีวิตให้กับตัวละครสัตว์ที่โด่งดังของดิสนีย์เป็นมาแล้วใน The Jungle Book เมื่อปี 2016 และ The Lion King เมื่อปี 2019
"ผมอยากนำเสนอแนวคิดที่ผสมผสานศิลปะการสร้างภาพยนตร์แบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดผลงานที่เปี่ยมด้วยความงดงามทางภาษาและสะท้อนความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง" - มาร์ก ฟรายด์เบิร์ก โปรดักชันดีไซเนอร์
ด้วยวิสัยทัศน์ของเจนกินส์ ทีมงานได้ร่วมมือกับศิลปินและช่างเทคนิคจาก MPC ผสมผสานวิธีการต่าง ๆ จากแอนิเมชันและ Live-action เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การออกแบบฉาก การถ่ายทำภาพยนตร์ ไปจนถึงการออกแบบดิจิทัล แอนิเมชัน ไปจนถึงการตัดต่อ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความงดงามลงในทุกเฟรมของภาพยนตร์
ตำนานบทใหม่ สืบทอดเจตนารมณ์ The Lion King
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่การเดินทางทั่วโลกเป็นไปอย่างยากลำบาก ทีมสร้างสรรค์ภาพยนตร์ได้เลือกใช้วิธีการสำรวจแอฟริกาแบบเสมือนจริง (Virtual Road Trip) ผ่านการนำทางของนักสำรวจผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการศึกษาภูมิประเทศและภูมิทัศน์อันหลากหลายของทวีปแอฟริกาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเสมือนจริงครั้งนี้ ได้ถูกนำมาปรับใช้ในการออกแบบฉากและเส้นทางการเดินทางของตัวละครในภาพยนตร์ โดยมุ่งเน้นให้ภาพยนตร์สะท้อนความเป็นจริงของทวีปแอฟริกาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ทว่าในการนำเสนอภาพเหล่านั้นบนจอเงิน ทีมงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการเพื่อให้เข้ากับโครงเรื่องและบทบาทของตัวละคร โดยมาร์ก ฟรายด์เบิร์กได้กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ฉากภาพยนตร์ในครั้งนี้ว่า “ผมต้องการให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้เดินทางไปยังสถานที่จริงในแอฟริกา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสอดคล้องกับเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ไปด้วย"
หลังสำรวจและเก็บข้อมูลสถานที่ต่าง ๆ ทีมโปรดักชันดีไซน์ได้นำข้อมูลมาออกแบบและสร้างฉาก โดยเริ่มจากภาพ Concept Art จากนั้นจึงสร้างฉากเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติขึ้นมา ซึ่งด้วยข้อมูลอ้างอิงจากการสำรวจทำให้ทีมงานศิลปินจาก MPC สามารถสร้างพรรณไม้และสัตว์ต่างๆ ในทวีปแอฟริกาขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิค Photogrammetry และการแกะสลักด้วยมือ จนออกมาเป็นทุ่งหญ้า แคนยอน และป่าไม้ จากการออกแบบอย่างพิถีพิถันในทุกส่วนตั้งแต่ก้อนหินไปจนถึงใบหญ้า
โดยมีการปรับแต่งและเพิ่มองค์ประกอบ เช่น แม่น้ำ ต้นไม้ และพืชพันธุ์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือเฉพาะเพื่อเลียนแบบความซับซ้อนของธรรมชาติให้สมจริงที่สุด ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญอย่างการปรับแต่งการเรนเดอร์ ซึ่งสำหรับฉากที่กว้างใหญ่กว่าฉากใน The Lion King ภาคก่อน จำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือใหม่ขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
จนในที่สุดก็ถ่ายทอดออกมาเป็นโลกของมูฟาซาที่เต็มไปด้วยความงดงามและความหลากหลายของภูมิประเทศในแอฟริกา เป็นฉากอันน่าทึ่งและน่าประหลาดใจ พร้อมทั้งฉากที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างทิวทัศน์หิมะ โดยโลกของมูฟาซานี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 107 ตารางไมล์ หรือเทียบเท่าเมือง Salt Lake City ในรัฐ Utah เลยทีเดียว และฉากเหล่านี้ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเล่าเรื่องการเดินทางของมูฟาซา ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเชิงจิตวิญญาณ
งานเสียงสุดสมจริง ไม่แพ้งานภาพ
นอกจากภาพที่สวยงามตระการตาแล้ว เสียงใน“Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง” ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างความสมจริงให้กับเรื่องราวได้อย่างน่าทึ่ง
Onnalee Blank ผู้รับหน้าที่เป็น Supervising Sound Editor / Re-ecording Mixer, CAS, MPSE ได้สร้างผลงานด้านเสียงอันยอดเยี่ยม ทำให้เสียงในเรื่องมีความสมจริงที่สุด ด้วยการทุ่มเทเก็บเสียงจริงจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปีนขึ้นไปบนจุดที่สูงกว่า 11,200 ฟุต บนภูเขา Mammoth ในแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับไมโครโฟนชนิดพิเศษและอุปกรณ์บันทึกเสียงที่เธอติดไว้กับตัวเองเพื่อเก็บเสียงลมจริงจากธรรมชาติ รวมถึงเสียงหิมะ
นอกจากนี้เสียงสัตว์ต่าง ๆ เธอก็คิดหาวิธีในการเก็บเสียงจากสัตว์จริง เช่น การสร้างรถสำรวจขนาดเล็กที่ติดตั้งไมโครโฟนไว้ในกรง เพื่อให้สามารถบันทึกเสียงของสิงโตได้โดยที่พวกมันไม่กินอุปกรณ์ของเธอไปเสียก่อน (แม้ว่าสิงโตจะวนเวียนล้อมรถสำรวจและพยายามตะปบอุปกรณ์ด้วยความสงสัยก็ตาม) หรือการเก็บเสียงหมูป่า Wart-hog ด้วยการติดอุปกรณ์บันทึกเสียงไปกับสร้อยคอที่สวมไว้บนตัวหมูป่าจริงเพื่อนำมาใช้แทนเสียงของพุมบ้า เป็นต้น
นอกจากบทสนทนา เพลงร้อง และเพลงประกอบ เสียงอื่น ๆ ที่ปรากฏใน “Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง” ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของทีมออกแบบเสียงที่สร้างและปรับแต่งทุกเสียงในเรื่อง ตั้งแต่เสียงของฝูงช้างที่วิ่งกระโจน ไปจนถึงกลุ่มลิงบาบูน ผ่านการใช้เทคนิค Foley ที่บางกรณีต้องเริ่มทำตั้งแต่ยังมีเพียงภาพสตอรีบอร์ดหรือร่างภาพ เพื่อกำหนดว่าสัตว์แต่ละชนิดเดินบนดินหรือหญ้า เพื่อให้ประสบการณ์การดูหนังของคนดูสมบูรณ์และราบรื่นที่สุด
นอกจากนี้ทีมยังต้องประเมิน สร้าง เพิ่ม หรือลดเสียงบรรยากาศรอบ ๆ ตัวละคร ให้ชั้นเสียงของสิ่งแวดล้อมสมจริง ไม่กลบเสียงบทสนทนาและเพลง โดยคำนึงถึงสัตว์ที่อยู่ในฉากหลังด้วย เพื่อให้ตัวละครหลักไม่ดูแปลกแยก ทุกเสียงจึงต้องฟังดูเป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับสถานที่และลำดับเรื่องราว ทำให้ทัศนียภาพทางเสียง หรือ Soundscape ของ “Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง” ให้ความรู้สึกสมจริงเหมือนคนดูได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ในเรื่องด้วย