ร่วมฉลองยูเนสโกยก “ภูพระบาท” มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทยที่อุดรธานี
ด่วน..!!รัฐบาลชวนคนไทยร่วมฉลอง ยูเนสโกยกย่อง “ภูพระบาท” มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย ที่อุดรธานี 28 ก.พ. นี้
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period) โดยเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานีต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อพุทธศักราช 2535
สำหรับการประกาศดังกล่าวได้ลงนาม รับรองโดย Ms. Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (UNESCO) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองและติดตั้งตราสัญลักษณ์มรดกโลกอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี
วัดพ่อตา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
โดยภายในงานมีกิจกรรมและการแสดงมากมาย อาทิ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน จากชุมชนไทพวน อำเภอบ้านผือ พิธีปลูกต้นรวงผึ้ง เฉลิมพระเกียรติ พิธีติดตั้งตราสัญลักษณ์มรดกโลก และป้ายส่งเสริมการท่องเที่ยว พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ โบราณสถานหอนางอุสา การแสดงละครตำนานภูพระบาท เรื่อง "อุสา - บารส" โขนรามเกียรติ์ ตอน "สุครีพถอนต้นรัง “การขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยและประชาชนทุกคน สะท้อนถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมไทยในระดับสากล รัฐบาลเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ยกระดับศักยภาพของประเทศ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”
อูปโมง หรือ เจดีย์ร้าง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
รอยพระพุทธบาท วัดพระบาทภูผาแดง
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มีลำน้ำโมงไหลลงสู่แม่น้ำโขง มีทิวเขาภูพานพาดผ่าน เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานโดยรอบภูมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และมีการปรับใช้พื้นที่บนยอดภูเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมหินตั้งเมื่อราว 3,000 ปี และสืบเนื่องต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี (วัฒนธรรมสีมา) เขมร ล้านช้าง และรัตนโกสินทร์
ภาพโดย: วีรพงษ์ คำด้วง มัคคุเทศก์และอาจารย์พิเศษด้านโบราณคดี