Next to know – ก้าวใหม่ของ MRNA สู่วัคซีนป้องกันเริม งูสวัส และมะเร็ง
วัคซีน mRNA หนึ่งในหัวข้อสนทนาที่ได้รับความสนใจกว้างขวางในปีก่อน ปัจจุบันกระแสความสนใจของผู้คนเริ่มซบเซาเมื่อเราได้รับวัคซีนทั่วหน้า แต่ในอนาคตข้างหน้าเราอาจต้องกลับมาให้ความสนใจกันอีกครั้ง เมื่อวัคซีน mRNA อาจพลิกโฉมวงการแพทย์ทั่วโลกอีกครั้ง
ถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักวัคซีน mRNA อีกต่อไป ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดทุกคนบนโลกโหยหาวัคซีนป้องกันโควิด สองยี่ห้อวัคซีนที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือ Pfizer และ Moderna ด้วยคุณสมบัติที่ผ่านการพิสูจน์มาเกือบจะทั่วโลกว่า เป็นวัคซีนต้านเชื้อโควิดประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจุบันความสนใจในวัคซีนเริ่มคลายตัวแม้จำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูง สาเหตุมาจากผู้คนส่วนมากของประเทศได้รับวัคซีนครบโดสรวมถึงเข็มกระตุ้นกันไปมาก แต่ไม่ใช่กับบริษัทยาผู้พัฒนาวัคซีนซึ่งกำลังริเริ่มการผลักดันวัคซีนไปสู่ขอบเขตใหม่อีกครั้ง
แต่คงต้องทำความเข้าใจกันสักนิดว่าวัคซีน mRNA คืออะไร?
วัคซีน mRNA คืออะไร?
mRNA ย่อมาจาก messenger Ribonucleic Acid คือสารพันธุกรรมอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเกือบทุกสายพันธุ์ ทำหน้าที่ออกคำสั่งในการผลิตโปรตีนขึ้นมาตามชุดคำสั่งที่ได้รับ ถือเป็นกลไกพื้นฐานของร่างกาย หรือจะบอกว่าเป็นการส่งคำสั่งให้ร่างกายผลิตโปรตีนรูปแบบต่างๆ ออกมาก็คงได้
การทำงานของวัคซีน mRNA จะใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ โดยการนำชิ้นส่วนพันธุกรรมของเชื้อโควิด หรือ mRNA ของไวรัสมาสกัดแล้วฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้มีการสร้างโปรตีนปุ่มหนามของเชื้อไวรัสขึ้นมา ช่วยให้ร่างกายทำความรู้จักไวรัสชนิดนี้และทำการสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อถึงเวลาติดเชื้อไวรัสของจริงร่างกายจึงสามารถต่อต้านเชื้อได้มีประสิทธิภาพ
ภูมิคุ้มกันที่ก่อตัวขึ้นจากโปรตีนหนามเหล่านี้จะช่วยลดอาการเจ็บป่วย รวมถึงป้องกันการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อรวมถึงผู้ป่วยอาการหนักลงเป็นจำนวนมาก แม้จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้างแต่เมื่อเทียบกับการติดเชื้อจนเป็นผู้ป่วยอาการหนักถือว่าเล็กน้อย
มีข่าวลือแพร่หลายตามอินเทอร์เน็ตว่า สารพันธุกรรมที่ฉีดเข้าไปจะส่งผลกระทบตกค้างกับร่างกาย อีกทั้งบางส่วนยังมีการกระจายข้อมูลว่าวัคซีนเป็นอันตรายกับผู้ได้รับวัคซีนในระยะยาว แต่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวล้วนเป็นเรื่องผิด วัคซีนมีความปลอดภัยสามารถปกป้องชีวิตคนได้อย่างดี
สิ่งนี้ยืนยันได้จากอัตราผู้ป่วยหนักในหลายประเทศที่แพร่ระบาดเริ่มลดลง เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าช่วงเริ่มต้นการระบาดมาก ทำให้หลายประเทศเริ่มปรับตัวผลักดันโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้สามารถถอดหน้ากากไปมาหาสู่จนสังคมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่าการมาถึงของวัคซีน mRNA ช่วยโลกใบนี้ไว้ได้สำเร็จ
และมันกำลังจะก้าวไปอีกขั้นเมื่อเทคโนโลยีวัคซีน mRNA กำลังถูกนำไปใช้ในโรคชนิดอื่น
โครงการการพัฒนาวัคซีน mRNA สู่โรคชนิดอื่น
ปัจจุบัน Moderna บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายสำคัญจนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้ประกาศพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ อาศัยเทคโนโลยี mRNA ซึ่งได้รับข้อมูลและการสนับสนุนเป็นจำนวนมากภายใต้สถานการณ์ระบาด นำไปสู่การนำมาใช้งานกับโรคชนิดอื่นที่หลากหลายครอบคลุมมากขึ้น โดยมีการพัฒนาวัคซีนอยู่สามชนิดในปัจจุบันได้แก่
- วัคซีนป้องกันโรคเริม
วัคซีนที่ได้รับการประกาศออกมาเป็นตัวแรกคือ mRNA-1608 ใช้สำหรับในการต้านไวรัสสำหรับโรคเริม หนึ่งในโรคติดต่อทางผิวหนังที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสชื่อว่า Herpe Simplex Virus (HSV) ซึ่งจะถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคเริมตัวแรกของโลก
เริ่มถือเป็นโรคติดต่อที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณปากและอวัยวะเพศ ถือเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ทั่วไปจากการกินดื่มอาหารร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ โดยจะถูกแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ HSV type 1 มักเกิดการติดเชื้อในบริเวณปาก ส่วน HSV type 2 มักติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์ แต่ด้วยกิจกรรมทางเพศของคนในปัจจุบัน ทำให้สามารถพบการติดเชื้อเริม HSV type 2 บริเวณปากเพิ่มมากขึ้น
ความน่ากลัวของเริมคือแม้มีการติดเชื้อแต่ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการ บางครั้งเราจึงไม่ทันรู้ตัวว่าได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายนำไปสู่การแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง อีกทั้งแม้ได้รับการรักษาจนหายดี แต่ร่างกายก็ยังมีเชื้อไวรัสฝังอยู่ภายในไปชั่วชีวิต และมีความเป็นไปได้ในการกำเริบขึ้นมาอีกเมื่อร่างกายอ่อนแอ
คาดการณ์ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยโรคเริมทั่วโลกในปัจจุบัน ในช่วงอายุ 18 – 49 ปี น่าจะมีอยู่ราว 5% ของจำนวนประชากร ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ เพราะ mRNA-1608 ออกแบบมาเพื่อป้องกันเริมได้ทั้งสองสายพันธุ์ โดยจะทำการกระตุ้นการตอบสนองของแอนตี้บอดี้นำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสอาการกำเริบขึ้นมาในอนาคต
- วัคซีนป้องกันงูสวัส
วัคซีนตัวที่สอง mRNA-1468 ถูกพัฒนาขึ้นมารับมือไวรัส Varicella Zoster Virus(VZV) เป็นเชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคงูสวัส ถือเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อได้รับเชื้อ แต่เมื่อหายดีเชื้อกลับไม่หายไปแต่เข้าไปซ่อนตัวอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอจะทำให้อาการกลับมากำเริบเป็นงูสวัสในที่สุด
งูสวัสเป็นโรคที่จะทำให้เกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงและตุ่มน้ำใส นำไปสู่อาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่มีตุ่มขึ้น นอกจากนี้แผลจากงูสวัสอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งยังสามารถกลับมาเกิดซ้ำได้เมื่อร่างกายอ่อนแอลง
สิ่งหนึ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดกันคืองูสวัสแท้จริงไม่ใช่โรคผิวหนังเหมือนอีสุกอีใส แม้จะทำให้เกิดอาการตุ่มใสผื่นแดงคล้ายโรคผิวหนัง แต่แท้จริงนี่เป็นโรคเกี่ยวกับปลายประสาทต่างหาก
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพว่า ปัจจุบันผู้ป่วยงูสวัสสูงขึ้นเป็น 3.4 ราย ต่อพันคนนับว่ามีจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 – 90 ปียังมีอัตราการเจ็บป่วยจากโรคนี้สูงกว่ากลุ่มอื่นถึง 3 เท่า อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นได้ง่ายอีกด้วย
นั่นเองคือจุดประสงค์ในการผลิตวัคซีน mRNA-1468 มีคุณสมบัติเด่นคือ การลดอัตราการเกิดโรคงูสวัสรวมถึงภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่ตามมา เช่น อาการปวดเส้นประสาท Postherpetic ซึ่งมีอัตราการเกิดมากถึง 44% ของผู้ป่วย เป็นอาการที่แม้ตุ่มน้ำใสหายไปแล้วอาการเจ็บปวดกกลับยังคงอยู่ รวมถึงถ้าเชื้อเข้าสู่ดวงตาอาจทำให้เกิดอาการตาบอดได้อีกด้วย
อีกหนึ่งอาการแทรกซ้อนที่น่ากลัวคือ เมื่อเชื้อเคลื่อนออกจากปมประสาทเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้เกิดอาการสมองอักเสบนำไปสู่การเสียชีวิต แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้น้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดสูงขึ้นหากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันและร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
- วัคซีนป้องกันโรคมะเร็ง
อีกหนึ่งวัคซีนที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษกับ mRNA-4359 ออกแบบให้ใช้ในการกระตุ้น T-cells เพื่อกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันให้เข้าไปโจมตี เข้าทำลายเซลล์ที่เกิดความผิดปกติมีความเป็นไปได้จะกลายเป็นเนื้อร้าย โดยเป้าหมายการทำงานของวัคซีนถูกสร้างเพื่อยับยั้งไม่ให้มะเร็งผิวหนังและมะเร็งปอดเข้าสู่ระยะลุกลาม
ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของคนไทย ทั้งยังทวีจำนวนขึ้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งจึงยิ่งสูง ทั้งยังเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคุณภาพการใช้ชีวิตคนในประเทศแย่ลงสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงคือมันสามารถเกิดกับคนได้ทุกช่วงวัย และบางครั้งโรคนี้ก็ไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นชัด เมื่อเกิดอาการในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดภายในร่างกาย ทำให้ไม่ทันรู้ตัวว่ามีเนื้อร้ายเกิดขึ้นในตัวจนไม่สามารถรักษาได้แต่เนิ่นๆ บางครั้งกว่าจะเกิดอาการก็เป็นระยะแพร่กระจายซึ่งเชื้อลุกลามจนยากต่อการรักษาแล้ว
การพัฒนาวัคซีนมะเร็งจึงอาจมาตอบคำถามในจุดนี้ แบบเดียวกับการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง ถ้าสามารถผลักดันให้วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งแพร่หลาย ครอบคลุมเนื้อร้ายได้ในหลายตำแหน่ง เป็นไปได้สูงว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งไทยและทั่วโลกได้ในอนาคต
แน่นอนว่าไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ยังมีวัคซีนอีกหลายชนิดกำลังอยู่ในขั้นพัฒนา ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชองผู้คนได้อีกนับล้าน แม้ปัจจุบันวัคซีนเหล่านี้จะยังอยู่ในขั้นทดลองต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่จึงสามารถนำมาใช้งานกับมนุษย์ แต่น่าดูชมว่าในอนาคตเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนของเราจะไปถึงจุดไหน
บางทีโรคร้ายมากมายที่เราคิดว่าไม่มีทางรักษาอาจสามารถผลิตวัคซีนป้องกันขึ้นมาก็เป็นได้
ที่มา
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/575/mRNACOVID-19vaccine/
https://www.prachachat.net/general/news-706416
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info.php?id=305
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1085
https://interestingengineering.com/moderna-cancer-mrna-vaccine