posttoday

พัฒนาการอีกขั้นของรถยนต์ไร้คนขับ การเรียนรู้จากความจำ

14 กรกฎาคม 2565

รถยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีที่เราได้ยินชื่อกันมานานแต่ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน ในสหรัฐฯแม้มีการเปิดใช้ทั่วไปแต่ในปัจจุบันยังคงมีปัญหา แค่ Tesla เจ้าเดียวก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกว่า 273 ครั้ง แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปกับการมาถึงของระบบเรียนรู้จากความจำ

หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้นในยุคหลังคือ รถยนต์ไร้คนขับ ที่หลายบริษัทต่างพยายามพัฒนาเพื่อออกมารองรับ ทั้งบริษัทรถยนต์อย่าง Tesla, บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple หรือบริษัทแท็กซี่ไร้คนขับที่เริ่มเปิดให้บริการทั้งในสหรัฐฯและจีน

 

          แน่นอนภายใต้การพัฒนาที่เกิดขึ้นหลายครั้งตามมาด้วยปัญหา หน่วยงานความปลอดภัยทางหลวงของสหรัฐ(NHTSA) ออกรายงานสถิติของอุบัติเหตุจากรถยนต์ไร้คนขับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 – 15 พฤษภาคม 2022 พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวมกันเกือบ 500 ครั้ง และอาจทวีจำนวนมากขึ้นเมื่อระบบนี้แพร่หลายในอนาคต

 

          แต่ก่อนอื่นเราคงต้องมาเรียนรู้กันสักนิดว่า รถยนต์ไร้คนขับในปัจจุบันทำงานอย่างไร?

 

พัฒนาการอีกขั้นของรถยนต์ไร้คนขับ การเรียนรู้จากความจำ

การทำงานของรถยนต์ไร้คนขับ นวัตกรรมที่ช่วยให้เราไม่ต้องขับรถเอง

 

          ปัจจุบันเราคงได้ยินเทคโนโลยีคนยนต์ไร้คนขับตามข่าวหรือรถยนต์บางรุ่นกันบ้าง กับรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนเองได้ น่าเสียดายที่ปัจจุบันยังไม่เปิดรองรับการใช้งานภายในประเทศไทย แต่หลายท่านอาจตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อไม่มีคนขับเราจะสามารถให้รถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เช่นไร?

 

          ก่อนอื่นเราคงต้องทำความรู้จักกันเสียก่อนว่ารถยนต์ไร้คนขับในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีใดสนับสนุนบ้าง

 

  1.           Computer Vision

 

          ระบบนี้ประกอบไปด้วยกล้องและเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพแวดล้อม คอยตรวจจับภาพการจราจรและสภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์ รวมถึงเซ็นเซอร์เพื่อคอยตรวจจับวัตถุที่อยู่รอบข้างเพื่อให้สามารถโดยสารไปในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

 

  1.           Deep learning

 

          ระบบประมวลผลจากปัญญาประดิษฐ์ ช่วยทำการตัดสินในการขับเคลื่อนรถยนต์จากข้อมูลที่ได้รับ สามารถสั่งการระบบต่างๆ ภายในรถยนต์ เป็นตัวกลางในการตัดสินใจและสั่งการรถยนต์เหมือนมันสมองของระบบ

 

  1.           Robotic

 

          ตัวกลางในการเชื่อมต่อระบบประมวลผลและระบบขับเคลื่อนเข้าด้วยกัน คอยเชื่อมโยงกลไกภายในรถให้กลายเป็นหนึ่งเดียวและตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ

 

  1.           Navigation

 

          สุดท้ายคือระบบแผนที่ ที่ช่วยระบุทั้งเส้นทาง ตำแหน่งรถยนต์ และตำแหน่งของเป้าหมาย โดยทำงานผ่านดาวเทียมช่วยในการรวบรวมข้อมูลและระบุเป้าหมาย อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจราจรและท้องถนนแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลจำนวนมาก เช่น ไฟจราจร, ทางม้าลาย, พื้นที่จำกัดความเร็ว ฯลฯ

 

          ด้วยระบบล้ำสมัยเหล่านี้ช่วยให้รถยนต์ไร้คนขับใช้งานได้ราบรื่น ขับเคลื่อนไปข้างหน้าบนท้องถนนอย่างปลอดภัย แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้ยังเป็นของใหม่ ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขต่อเนื่องเพื่อยกระดับให้ทัดเทียมกับมนุษย์ จึงอาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่จึงสามารถทำงานได้เทียบเท่าคนจริง

 

พัฒนาการอีกขั้นของรถยนต์ไร้คนขับ การเรียนรู้จากความจำ

หน่วยความจำ แนวทางใหม่ในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ

 

          ผลงานชิ้นนี้เป็นความสำเร็จของนักวิจัยจาก Cornell University ได้พัฒนาระบบประมวลผลของรถยนต์ไร้คนขับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยการบันทึกข้อมูลเป็นหน่วยความจำ มาเรียนรู้เป็นประสบการณ์เพื่อนำไปใช้งานและปรับตัว เพื่อให้เมื่อขับรถผ่านเส้นทางเดิมแม้มีปัญหาด้านสภาพอากาศ ตัวรถก็ยังสามารถขับเคลื่อนได้อย่างปลอดภัย

 

          งานวิจัยชิ้นนี้ผ่านการทดสอบโดยทีมวิจัยได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ LiDAR (Light Detection and Ranging) บนรถ และขับวนเส้นทางยาว 15 กิโลเมตร ซ้ำๆ เป็นจำนวนกว่า 40 รอบ ในระยะเวลา 18 เดือน คอยสำรวจและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเพิ่มข้อมูลชุดภาพมากกว่า 600,000 ภาพเข้าสู่ระบบการประมวลผล

 

          ระบบดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า HINDSIGHT อาศัยระบบประมวลผลในการคำนวณระยะห่างระหว่างวัตถุขณะรถแล่นผ่าน จากนั้นจึงบีบอัดและแปลงข้อมูลให้อยู่ลักษณะ SQuaSH (Spatial-Quantized Sparse History ร่วมกับข้อมูลแผนที่เสมือนจริง เพื่อนำข้อมูลที่บันทึกมาประมวลในการขับผ่านเส้นทางเดิมครั้งต่อไป

 

          การเรียนรู้ผ่านระบบ HINDSIGHT นี้สะดวกและรวดเร็ว สามารถป้อนข้อมูลผ่านระบบได้โดยไม่ต้องการตั้งค่าเพิ่มเติม เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากรถคันอื่นไปป้อนลงระบบประมวลผลของรถยนต์อีกคันที่ไม่เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน สามารถทำให้รถคันดังกล่าวเรียนรู้สภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย และตอบสนองต่อสภาพการจราจรและสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

 

          สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ขีดความสามารถของระบบประมวลผลรถยนต์เพิ่มแบบก้าวกระโดด ทำให้ยานพาหนะดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น และเมื่อมีการใช้งานระบบนี้และเก็บข้อมูลมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ระบบประมวลผลสามารถบังคับควบคุมรถได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น และยังอาจสามารถแบ่งปันข้อมูลที่ได้ผ่านเครือข่ายแก่รถคันอื่นได้อีกด้วย

 

 

          แน่นอนว่าทั้งหมดที่ว่าล้วนยังอยู่ในขั้นทดลองจำเป็นต้องรับการมทดสอบอีกมากจึงจะใช้จริง ด้วยเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับเองยังคงแพร่หลายอยู่ในวงจำกัด คงต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ให้เสถียร ผู้ที่คาดหวังว่าเราจะได้พบเห็นรถยนต์ไร้คนขับอยู่ทั่วไปจึงอาจต้องรอกันอีกนิด

 

          แต่คาดว่าในไม่ช้าเราคงได้พบกับรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบเหมือนในหลายประเทศ แม้สำหรับไทยอาจเป็นเรื่องยากสักหน่อยก็ตาม

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/self-driving-vehicles-with-memory

 

          https://www.bangkokbanksme.com/en/autonomous-car-new-world-of-automotive

 

          https://www.ecocar.co.th/blog/read/39

 

          https://www.exclusive.co.th/blog/read/16

 

          https://www.depa.or.th/th/article-view/tech-series-electric-and-autonomous-cars

 

          https://www.blognone.com/node/129004