posttoday

"หินน้ำมัน" ความหวังมะกันรูปใหม่ขึ้นแท่นผู้นำพลังงานโลก พลิกฟื้นศก.

28 ตุลาคม 2555

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เมื่อพินิจพิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติโดยละเอียด จุดพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ มักสังเกตเห็นได้จากการเกิดขึ้นของตัวแปรสำคัญอย่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ

ไล่เรียงตั้งแต่การคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำจนนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยจากที่เคยพึ่งพาแรงงานคนและสัตว์ ไปสู่การพึ่งพาเครื่องจักรในช่วงศตวรรษที่ 18 หรือการประดิษฐ์คิดค้นคอมพิวเตอร์เมนเฟรม เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ก่อนกลายเป็นต้นแบบพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพ และใช้อย่างดาษดื่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญกำลังจะเวียนกลับมาอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของโลกอย่างยิ่งยวดอยู่ในขณะนี้ อย่างเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตน้ำมันที่เรียกว่า การสกัด “หินน้ำมัน” หรือ “ออยล์เชลล์” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐ

ขณะเดียวกันก็ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ด้านพลังงานส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้พญาอินทรีเตรียมก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันหมายเลขหนึ่งของโลก แทนที่ซาอุดีอาระเบียในอีกไม่ถึง 10 ปี

อะไรคือ ‘หินน้ำมัน’

“หินน้ำมัน” คือหินตะกอนซึ่งเกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้วและสะสมรวมกับเศษหินดินทรายต่างๆ ในที่ที่เคยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วไปมาก่อนเป็นเวลานับล้านปี

กระนั้นหินน้ำมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งจะค้นพบใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นที่รู้จักกันมานานในวงการพลังงานแล้วว่า หินเหล่านี้มีน้ำมันที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานได้อยู่ภายใน แต่กลับไม่ได้รับความนิยมมากนักเนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตในช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่ดีเพียงพอ และค่อนข้างยุ่งยากที่จะสกัดน้ำมันออกมาใช้ แถมต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก

\"หินน้ำมัน\" ความหวังมะกันรูปใหม่ขึ้นแท่นผู้นำพลังงานโลก พลิกฟื้นศก.

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้สามารถสกัดน้ำมันออกจากหินน้ำมันได้สำเร็จ ผ่านกรรมวิธีอัดฉีดน้ำ ทราย และสารเคมีเข้าไปยังใต้ผิวดินด้วยแรงดันสูง หรือที่ทางศัพท์เทคนิคเรียกว่า “เฟร็ดกิง” เพื่อแยกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อยู่ภายในออกมา ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิต และการเข้าถึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป

บรรดาบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทั้ง เอ็กซอนโมบิล หรือ รอยัลดัตช์ เชลล์ ต่างหันมาเพิ่มการลงทุนในการผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันในสหรัฐอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนที่ผ่านมา บริษัท เอ็กซอนโมบิล ประกาศแผนลงทุนในการผลิตในสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท)

สาเหตุเพราะบริษัทเหล่านี้กำลังมองว่าสหรัฐคือหนึ่งในภูมิภาคสำคัญที่มีบทบาทด้านพลังงาน ซึ่งสมควรต้องเข้าไปลงทุนเนื่องจากการขุดค้นหินน้ำมันในสหรัฐทำให้อัตราการผลิตน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นทุกขณะ

กระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่า การผลิตน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานรูปแบบอื่นๆ ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยคาดว่าในปีนี้ก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก 7% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ในปี 2556 กระทรวงพลังงานสหรัฐยังคาดว่า การผลิตพลังงานข้างต้นในประเทศจะขึ้นมาอยู่ที่ 11.4 ล้านบาร์เรล หรือน้อยกว่าซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีกำลังการผลิตต่อวันอยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ด้วยแนวโน้มที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้นักวิเคราะห์พลังงานพากันคาดการณ์ว่าอีกไม่นานสหรัฐจะสามารถแซงหน้าซาอุดีอาระเบียขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกในปี 2563

ทั้งนี้ ธนาคารซิตีแบงก์ ประเมินว่า กำลังการผลิตของสหรัฐมีแนวโน้มจะพุ่งไปอยู่ที่ 1315 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“หากเป็นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถ้าผมหรือใครคาดการณ์ว่ายอดการผลิตน้ำมันสหรัฐจะมีปริมาณเท่ากับตัวเลขในปัจจุบัน ผู้คนคงคิดว่าเราบ้าแน่ๆ” จิม เบิร์กฮาร์ด หัวหน้านักวิจัยตลาดน้ำมันแห่งบริษัท ไอเอชเอส ซีรา ผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจพลังงานในสหรัฐ กล่าวต่อสำนักข่าวเอพี

ความหวังลดว่างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การสกัดหินน้ำมันเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานนี้ ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงแค่จะทำให้สหรัฐขึ้นแท่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเท่านั้น เพราะยังหมายรวมถึงการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่อีกด้วย โดยเฉพาะอัตราการว่างงานภายในประเทศที่ยังสูงอยู่ที่ระดับ 7.8%

นอกจากนี้ รายงานของบริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยง ไอเอชเอส ระบุเพิ่มเติมอีกว่า กระแสความตื่นตัว “หินน้ำมัน” ยังทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศแล้วถึง 1.7 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 1.3 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศในปี 2563 นี้

ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดี ก็คือ อัตราการว่างงานในแต่ละรัฐที่มีการลงทุนด้านการผลิตน้ำมันจากหินน้ำมัน อย่างรัฐนอร์ทดาโคตา รัฐโอกลาโฮมา รัฐไวโอมิง รัฐมอนตานา และรัฐเทกซัส ล้วนระดับการว่างงานโดยเฉลี่ยต่ำกว่าระดับการว่างงานในประเทศ ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 7.8% โดยในรัฐนอร์ทดาโคตาอยู่ที่ 3% และรัฐโอกลาโฮมาที่ 5.2%

\"หินน้ำมัน\" ความหวังมะกันรูปใหม่ขึ้นแท่นผู้นำพลังงานโลก พลิกฟื้นศก.

 

สาเหตุสืบเนื่องมาจากปริมาณการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจที่รองรับอุตสาหกรรมพลังงานโดยตรง เช่น โรงงานผลิตเหล็ก และบริษัทผลิตระบบท่อขนส่งน้ำมันอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงธุรกิจด้านอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง ร้านค้าปลีก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีคนเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น

ทั้งนี้ ไอเอชเอสยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ภาคอุตสาห กรรมดังกล่าวช่วยสร้างรายได้เข้ารัฐมากถึง 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.83 ล้านล้านบาท) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1.11 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.33 ล้านล้านบาท) ในปี 2563 โดยทั้งหมดใช้ฐานการเก็บภาษีปัจจุบันเป็นเกณฑ์การวัดและคำนวณออกมา

“เป็นการเปลี่ยนแปลงต่อทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากนับตั้งแต่มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเข้ามาใช้ในปี 2530 และทำให้การผลิตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น” ฟิลลิปส์ เวอเลเกอร์ นักวิจัยแห่งสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปีเตอร์สัน กล่าว

แนวโน้มราคาน้ำมันถูก

ทั้งนี้ การขึ้นมามีบทบาทด้านพลังงานของสหรัฐ ยังส่งผลต่อการซื้อขายน้ำมันในตลาดโลก โดยเฉพาะต่อภูมิภาคเอเชีย ที่จะมีโอกาสซื้อน้ำมันคุณภาพสูงในราคาที่ถูกลง

เพราะการที่สหรัฐผลิตน้ำมันและพึ่งพาแหล่งพลังงานในประเทศได้มากขึ้น ย่อมทำให้ความต้องการนำน้ำมันเข้าลดน้อยลง ส่งผลให้บรรดาโรงกลั่นและประเทศผู้ซื้อน้ำมันในเอเชียมีโอกาสเจรจาทำข้อตกลงซื้อขายน้ำมันดิบคุณภาพสูง โดยเฉพาะจากแหล่งแอฟริกาตะวันตก ซึ่งสหรัฐเคยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความต่างราคาที่ต้องจ่ายให้กับการซื้อน้ำมันคุณภาพสูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ ของโลกอีกด้วย

รายงานจากกรมข้อมูลพลังงานสหรัฐ (อีไอเอ) ระบุว่า เทคโนโลยีการสกัดหินน้ำมันในสหรัฐกำลังทำให้ความต้องการน้ำมันดิบจากแอฟริกาตะวันตกของสหรัฐลดลงถึง 5.6 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของอัตราการส่งออกน้ำมันดิบของอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ออสเตรเลีย ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะเดียวกัน จำนวนที่ลดลงดังกล่าวยังสวนทางกับแนวโน้มการส่งน้ำมันดิบจากแอฟริกาตะวันตกไปยังเอเชียที่มีแววว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ สิ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มข้างต้น คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดทาปิสของมาเลเซีย เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ร่วงลงเหลือเพียง 3.05 เหรียญสหรัฐ (ราว 90 บาท) ต่อบาร์เรลเท่านั้น จากเดิมที่ 9.50 เหรียญสหรัฐ (ราว 270 บาท) ต่อบาร์เรลในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงถึง 6 เหรียญสหรัฐ ไม่ได้มีแต่เฉพาะปัจจัยที่สหรัฐสามารถพึ่งพาแหล่งน้ำมันของตนเองได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก เข้ามาเป็นตัวกำหนดเพิ่มเติม ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกอนาคตอันใกล้ หรือในไตรมาส 4 นี้จะมีมากที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ในช่วงดังกล่าวการผลิตน้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 6.3 แสนบาร์เรลต่อวัน

“เหมือนกับว่าตลาดได้ตอบสนองต่อปัจจัยด้านลบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลง ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก มากกว่าแนวโน้มความต้องการในอนาคต” มีโต ซูโก นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัท สถาบันวิจัยซัคเดนไฟแนนเชียล กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีและความก้าวหน้าใหม่ๆ จะทำให้สหรัฐก้าวเป็นผู้นำพลังงานโลก ช่วยพลิกฟื้นประวัติศาสตร์การพลังงาน หรือเป็นประโยชน์ในแง่ของการต่อยอดให้มนุษย์ได้มีพลังงานใช้ต่อไปอีกนาน

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสมควรท่องจำให้ขึ้นใจก็คือ ต่อให้เป็นพลังงานที่ยั่งยืนยาวนานแค่ไหน เมื่อใช้แล้วย่อมต้องหมดไป

การใช้อย่างรู้คุณค่า และให้คุ้มค่าจึงมีความสำคัญมากที่สุด