posttoday

"ไต้หวัน"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์

25 พฤษภาคม 2557

ไต้หวัน ในวันนี้ กำลังเดินไปอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

โดย...ธนพล ไชยภาษี

เมื่อได้รับคำเชิญจากสำนักงานเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมแห่งไต้หวัน ให้เดินทางไปเยี่ยมชมงานเชิงอนุรักษ์ที่ไต้หวัน ก็รู้สึกแปลกใจ เพราะบอกกันตรงๆครับ ว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับเกาะแห่งนี้เสียเท่าไหร่ รู้เพียงแต่ว่าไต้หวันเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ กลุ่มประเทศนิคส์ ในเอเชีย ( NICs) แบบที่ไทยเคยถูกจัดกลุ่มไว้ด้วยนั่นล่ะครับ (แต่ตอนนี้ยังอยู่หรือไม่คนไทยคงรู้กันได้)

และสิ่งที่พอรู้อีกอย่างก็คือ ไต้หวันเป็นดินแดนที่ก่อตั้งขึ้นในลักษณะของรัฐชาติเมื่อปี 1949 นี่เอง หลังจากนายพล เจียงไคเช็ค พ่ายแพ้ให้กับกองทัพคอมมิวนิสต์ ในจีนแผ่นดินใหญ่ และหอบสมบัติ พาพรรคพวกมาที่ไต้หวัน พร้อมขนสมบัติมาด้วยมากมาย ดังนั้นสมบัติล้ำค่าของราชวงศ์ต่างๆของจีน จะอยู่ที่ไต้หวันกว่า 80% ครับ ส่วนที่จีนมีแต่พระราชวัง

ในยุคสมัยใหม่ ต้องบอกว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของเอเชีย คุณ เชอร์รีล เจิ้ง ที่ปรึกษาสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติไต้หวันกล่าวเปรียบเทียบให้คณะผู้สื่อข่าวจากนานาชาติให้ฟังว่า เศรษฐกิจของเอเชียก็เปรียบเหมือนกับฝูงผ่านที่กำลังบิน ตัวหน้าสุดคือจ่าฝูง ได้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบัน จีนกำลังบินแซงขึ้นมา ส่วนที่ตามหลังมาก็มี เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน  สิงคโปร์ และรั้งท้าย ก็คือกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บินรั้งฝูงนั่นเอง

การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของไต้หวันนั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายครับในช่วงยุคพัฒนาชาติในช่วงยุค 1960 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลไต้หวัน เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ และ หันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังทั้งในด้านงานอนุรักษ์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และด้วยความพยายามอย่างยิ่ง หากใครได้ไปเยือนไต้หวัน จะเห็นว่าเกาะนี้มีพื้นที่สีเขียวมากมายเหลือเกินในปัจจุบัน ประเทศนี้ส่งเสริมอุตสาหกรรมการรีไซเคิล การใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโซล่าร์เซลส์ และ การใช้พลังงานจากลม

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เขตศึกษาธรรมชาติซีโตว เมืองไถ่จง ที่นี่ป่า 60% เป็นพื้นที่ป่าปลูกใหม่

อาหารหลายแห่งได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นที่โรงเรียมประถมศึกษา เจียนอัน นอกกรุงไทเป ที่นี่มีห้องเรียนที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ พื้นที่ชั้นบนของโรงเรียนได้รับการจัดให้เป็นสวนเพื่อลดอุณหภูมิของตัวอาคารในฤดูร้อนโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ เด็กนักเรียนที่นี่ได้รับการอมรม และฝึกฝนให้ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากที่ในปัจจุบัน ไต้หวันรุดหน้ามากในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเฉพาะการเป็นผู้ผลิตแผงโซลาเซลส์ พลังงานแสงอาทิตย์ อย่างเช่นบริษัท เน็กซ์ เพาเวอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 ของโลกที่ผลิตแผงโซลาร์เซลส์แบบแผ่นฟิล์ม ซึ่งนอกเหนือจากเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังมีความสวยงามใช้ตกแต่งบ้านเรือนได้อีกด้วย ไต้หวันยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ วัสดุต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ประสานเข้ากับงานศิลป์ได้อย่างน่าดูชมครับ ผลิตภัณฑ์หลายอย่างจากไต้หวัน จะมีลักษณ์เรียบง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ

ในแง่ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรของสิ่งแวดล้อมนั้น จากตัวเลขในปี 2011 การส่งออกของผลิตภัณฑ์ในด้านนี้ของไต้หวันคิดเป็นถึง 14% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าถึง 4.28 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐทีเดียว  โดยสินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน, อุปกรณ์รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, หลอดแอลอีดี และเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนต่างๆ  

ในปัจจุบัน รัฐบาลไต้หวันยังส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากที่สุดครับ หากบ้านไหนต้องการติดแผงโซลาร์เซลส์ รัฐก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ และรัฐยังมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากบ้านที่ติดแหล่งผลิตพลังงานเหล่านี้ด้วย

สำหรับคนที่เดินทางมาจากไทยแลนด์อย่างผม ประเทศที่คำว่าสิ่งแวดล้อมมักจะถูกเบียดไปด้วยคำว่า “การพัฒนา”  เมื่อได้มาเห็นไต้หวันครั้งแรกก็ต้องบอกว่า “ทึ่ง” จริงๆ ที่ประเทศนี้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ป่าไม้ หรือพื้นที่ธรรมชาติในไต้หวันหลายแห่ง  แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยเสื่อมโทรมจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการถูกปกครองโดยต่างชาติ แต่ทั้งหมดก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอย่างจริงจัง พื้นที่ชุ่มน้ำริมฝั่งทะเลได้รับการอนุรักษ์อย่างเต็มที่เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชน และยังเป็นพื้นที่พักผ่อนที่ลงตัว  ซึ่งแตกต่างกับสถานการณ์ในบ้านเราเสียเหลือเกินครับ ที่คำว่า “พื้นที่อนุรักษ์” ยังทะเลาะวิวาทอยู่กับคำว่า “พื้นที่ทำกิน” ไม่ว่าจะในยุคสมัยใดอย่างไม่เสื่อมคลาย

“หากเราทำลายสิ่งแวดล้อมลงไปแล้ว คุณจะต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้มันกลับไปเป็นเหมือนเดิม”  นาย เหวิ่ย กั๋ว เหยิน รัฐมนตรีสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) แห่งไต้หวันกล่าวย้ำให้กับคณะผู้สื่อข่าวนานาชาติฟัง

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เขตศึกษาธรรมชาติซีโตว

การปกป้อง และป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมจึงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวทุกๆแห่งในไต้หวันด้วย อย่างเช่นที่ พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหมย ในเมืองไถ่จง ทางตอนกลางของไต้หวันซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไต้หวันนั้น พื้นที่แห่งนี้เคยเสื่อมโทรมมาก่อน การอนุรักษ์จึงเกินขึ้น

เจ้าหน้าที่ได้พาคณะผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมพร้อมกับอธิบายว่า ในปัจจุบันนี้ พื้นที่ได้รับการฟื้นฟู และได้รับการจัดสรรใหม่ด้วยการทำเส้นทางเดินเข้าสู่พื้นที่ชุ่มน้ำให้กับประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำลงไปโดยตรงป้องกันการทำลายชีวิตสัตว์น้ำ และพันธุ์พืชที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ ซึ่งในระยะยาว เจ้าหน้าที่บอกว่า เส้นทางเดินนี้ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกเหยียบย่ำได้อย่างดีทีเดียว และยังกลายเป็นสถานที่พักผ่อนที่ได้รับความนิยมอย่างมากด้วย  และที่สำคัญ ที่นี่เป็นแหล่งดูนกที่น่าตื่นตาตื่นใจของไต้หวันทีเดียว

เห็นแล้วพาลให้นึกถึงเส้นทางเดินธรรมชาติบริเวณผาเดียวดายที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ของเรานี่เองครับ ที่เคยมีเสียงต่อต้านอย่างหนักเมื่อเริ่มมีการสร้างเส้นทางเดินเช่นนี้ขึ้นมาเช่นกันเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาครับ 

เกาะไต้หวันเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นนานถึง 50 ปี (1895-1945) นั่นทำให้พื้นที่ป่าจำนวนมากของไต้หวันถูกทำลายไปกับอุตสาหกรรมป่าไม้ของญี่ปุ่น พรรณไม้บางชนิดจากพื้นที่อื่นถูกนำมาปลูกเอาไว้ซึ่งกลายเป็นพันธุ์พืชแปลกปลอม (Alien Species) อย่างเช่นต้นสนญี่ปุ่นเป็นต้นด้วย

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เขตศึกษาธรรมชาติซีโตว

ที่ศูนย์ ศึกษาธรรมชาติ ซีโตว ในเขตหนานโตว ของเมืองไถ่จงนั้น เป็นพื้นที่หุบเขาสูงเหนือจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 กิโลเมตร ที่นี่เป็นตัวอย่างของพื้นที่ป่าที่เคยถูกทำลายมาก่อน ป่าไม้ที่ที่จะเป็นป่าปลูกใหม่ถึง 60-70% โดยมีการกระจายตัวอย่างมากของสนญี่ปุ่นที่ฟอร์มใบมีลักษณะกลม ที่ขึ้นแข่งกับสนพันธุ์ท้องถิ่นของไต้หวันที่ฟอร์มต้นมีลักษณะเหมือนต้นคริสมาสต์ ที่นี่ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์เฟิร์นมหาสดำพันธุ์ท้องถิ่นของไต้หวัน (Tree Fern) ที่สำคัญอีกด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในไต้หวันเกือบที่จะทุกแห่งที่ได้ไปเยือนนั้นได้รับการจัดการอย่างยอดเยี่ยมแทบจะไม่เห็นขยะตามพื้นที่แม้แต่น้อย มีการปลูกฝังจิตสำนึก ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวเข้าใจในธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ส่งเสริมให้เกิดความหลงใหลไปกับความสวยงามของธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่หลงลืมการอนุรักษ์ และการมุ่งรักษาธรรมชาติ อย่างในประเทศสารขัณฑ์

การนั่งดื่มเหล้าสูบบุหรี่ เปิดเพลงเสียงดัง หรือขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนจากนักท่องเที่ยว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นอย่างแน่นอนบนเกาะแห่งนี้อย่างแน่นอน !

ไต้หวัน ในวันนี้ กำลังเดินไปอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างแท้จริง ที่ไม่เพียงแต่ประชาชนได้ประโยชน์จากการอนุรักษ์แล้ว  แต่ยังสามารถนำมาสร้างเป็นมูลค่าในด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกาะฟอร์โมซ่า ซึ่งแปลว่าเกาะที่สวยงามแห่งนี้ มีความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับพื้นที่สีเขียวอย่างน่าชมครับ

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เขตศึกษาธรรมชาติซีโตว

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เด็กนักเรียนโรงเรียนเจียงอันอธิบายวงจรชีวิตหนอนผีเสื้อในแปลงเลี้ยงภายในโรงเรียน

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เฟิร์นมหาสดำไต้หวัน ขึ้นแซมอยู่กับสนญี่ปุ่น ที่ซีโตว

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เฟิร์นมหาสดำไต้หวัน

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เส้นทางเดินธรรมชาติที่โรงเรียนประถมเจียงอัน นอกกรุงไทเป

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เส้นทางเดินลอยฟ้าศึกษาป่าสนภายในเจตศึกษาธรรมชาติซีโตว

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เส้นทางเดิมธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหมิ่ย

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เส้นทางเดิมธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหมิ่ย

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ เส้นทางเดิมธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหมิ่ย

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ แผ่นโซลาร์เซลส์แบบฟิล์มบางๆ ผลิตพลังงานได้ และตกแต่งอาคารได้อย่างสวยงาม

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ กังหันลมผลิตพลังงานไฟฟ้าเห็นได้ทั่วไปตามชายฝั่งของไต้หวัน

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ ชุดอาหารที่จาน แก้วน้ำ และถาดผลิตจากกระดาษรีไซเคิล

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ บรรยากาศร่มรื่นที่เขตศึกษาธรรมชาติซีโตว

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ พื้นที่ชุ่มน้ำ เกาเหมิ่ย เมืองไถ่จง

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ มุมเขียวๆบรรยากาศสดชื่นของไต้หวัน

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ มุมสีเขียวเล็กๆที่หาได้ทั่วไปในไต้หวัน

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ สนญี่ปุ่นด้านซ้ายขึ้ขนาบกับสนไต้หวันด้านขวา ที่เขตศึกษาธรรมชาติซีโตว

 

\"ไต้หวัน\"เมื่อเศรษฐกิจเคียงข้างการอนุรักษ์ อาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และ แผ่นหินที่ดูดซับความชื้นและกลิ่นได้ดีผลิตหินภูเขาไฟ