posttoday

'PEP' วิมานนมพม่า

02 มีนาคม 2558

ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนนิยมบริโภคนมกันเป็นกิจวัตร

โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์

ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนนิยมบริโภคนมกันเป็นกิจวัตร พม่ากำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการสร้างตลาดให้เข้มแข็ง กระตุ้นผู้บริโภคชาวพม่าให้หันมาบริโภคนมเพิ่มมากขึ้น

นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของ ตุนตุน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรด ฮอร์ส แดรี่ อินดัสทรี่ส์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมพร้อมดื่ม “PEP” แบรนด์ท้องถิ่นของพม่า เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตนมผง แต่เพื่อให้อาณาจักรนมของเขาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เขาจึงมองหาโอกาสและขยายแบรนด์ของตัวเองเข้าสู่ตลาดนมพร้อมดื่มดังเช่นที่ตลาดสากลนิยมด้วย

เรื่องน่าสนใจกว่านั้น คือ เขาบอกว่าเขามีธุรกิจน้ำปลาอยู่ด้วย ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันระหว่างธุรกิจน้ำปลาและนมพร้อมดื่ม ก็คือ “เป็นของเหลว”

วิธีสร้างอาณาจักรนมของเขา เริ่มจากการหาพันธมิตรคู่ค้าที่เข้มแข็งจากหลากหลายพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบนมผงจากนิวซีแลนด์ ฟาร์มนมดิบจากมัณฑะเลย์ ผู้ผลิตขวดแก้ว คือบริษัท บางกอกกล๊าส ของไทย ผู้ผลิตเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนมพร้อมดื่ม คือบริษัท พัฒน์กล ของไทย ตลอดจนผู้รับจ้างผลิตสินค้า (โออีเอ็ม) ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนมบรรจุกล่องอยู่แล้วจาก จ.เชียงใหม่

แม้ตลอดช่วงที่ผ่านมา ชาวพม่าจะยังนิยมดื่มชามากกว่าดื่มนม แต่ตลาดนมในพม่าก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นลำดับ สังเกตได้ว่าปัจจุบันมีบริษัทท้องถิ่นอยู่ในตลาดถึง 4 ราย และมีแบรนด์ต่างชาติอีกอย่างน้อย 2 ราย เช่น โฟร์โมสต์และดัชมิลล์ เข้ามาแข่งขันในตลาดแล้ว

สำหรับการเจาะตลาดสู้กับคู่แข่งนั้น เขาเลือกใช้วิธีจำหน่ายผ่านช่องทางการค้าดั้งเดิม (Traditional Trade) เช่น ร้านโชห่วย ร้านน้ำชา ร้านอาหาร ที่มีมานานแล้วในพม่า โดยส่งสินค้าทั้งแบบขวดแก้วแบบคืนได้ ราคา 10 บาท แบบกระป๋อง ขนาด 180 มล. ราคา 16 บาท และแบบกล่อง ขนาด 180 มล. ไปยังร้านค้าเหล่านั้น

ตุนตุน เล่าว่า ผลิตภัณฑ์นมที่ชาวพม่าชื่นชอบ คือนมรสหวาน เนื่องจากพื้นฐานชาวพม่านิยมบริโภครสชาติหวานอยู่แล้ว สินค้าที่เขาผลิตออกมาสู่ตลาดจึงเป็นนมสเตอริไลซ์รสหวานรสต่างๆ ไม่มีนมจืดปกติเหมือนอย่างที่คนไทยนิยมบริโภค

จวบจนปัจจุบัน เป็นเวลานับสิบปีแล้วที่แบรนด์ PEP ซึ่งหมายถึง “พลังงาน” ก้าวเข้าสู่ตลาดนมในพม่า อาณาจักรของเขายิ่งใหญ่จนมีพนักงานกว่า 160 คน มีกำลังการผลิตนมบรรจุกระป๋องวันละ 2 หมื่นกระป๋อง และนมบรรจุขวดอีกวันละ 2.6 หมื่นกระป๋อง เป็นบริษัทนมท้องถิ่นที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในปีนี้เขาจึงเตรียมลงทุนเพิ่มเติมกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตสินค้าของตัวเองเพิ่ม รวมถึงจ้างพนักงานใหม่ขยายอาณาจักรนมของเขาให้แข็งแกร่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แม้ตุนตุนจะยังไม่มีแผนพาแบรนด์ PEP ไปบุกตลาดต่างประเทศ แต่เขาเชื่อมั่นว่าในปีนี้เขาจะมีส่วนร่วมกระตุ้นผู้บริโภคในประเทศให้ดื่มนมมากขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมของเขาเติบโตจาก 1.75 แสนเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมาแน่นอน