posttoday

'จักรวาลภาพยนตร์' ของมาร์เวล จุดเปลี่ยนวงการฮอลลีวู้ด

13 มิถุนายน 2558

แม้ภาพยนตร์แอ็กชั่นฮีโร่ของมาร์เวล สตูดิโอ ล่าสุดอย่าง Avengers : Age of Ultron จะทำรายได้

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

แม้ภาพยนตร์แอ็กชั่นฮีโร่ของมาร์เวล สตูดิโอ ล่าสุดอย่าง Avengers : Age of Ultron จะทำรายได้ไม่เท่ากับที่แฟนคลับและนักวิจารณ์คาดหวังไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแส "จักรวาลภาพยนตร์" เป็นกุญแจความสำเร็จที่ทำให้มาร์เวลสตูดิโอผงาดขึ้นอีกครั้ง จนหลายค่ายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดต้องทำตาม

ทั้งนี้ เมื่อเอ่ยถึงนิยามจักรวาลของภาพยนตร์นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การสร้างเพียงหนังภาคต่อเท่านั้น แต่คือการสร้างจักรวาลหนังอย่างที่มาร์เวล สตูดิโอ ทำ หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงจากภาพยนตร์ Iron man ในปี 2008 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่พลิกผันให้ค่ายการ์ตูนอย่างมาร์เวลรอดพ้นการล้มละลายได้อย่างหวุดหวิด

ก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ทำให้มาร์เวลขาดทุนอย่างหนัก จนต้องขายลิขสิทธิ์การ์ตูนดังอย่าง Spider-man ให้กับโซนี่ พิกเจอร์ และ X-men ให้กับทางทเวนตี้เซ็นจูรี่ฟอกซ์ ก่อนที่ทางดิสนีย์จะเข้ามาซื้อมาร์เวลไปในปี 2009 ด้วยเงิน 4,240 ล้านเหรียญสหรัฐ กระนั้นดิสนีย์ก็ให้สิทธิกับมาร์เวลในการทำภาพยนตร์อย่างเต็มที่ โดยดิสนีย์จะเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น

มาร์เวลเข็นภาพยนตร์ออกมาอีกหลายเรื่องทั้งยักษ์เขียวอย่าง Hulk ภาคต่อของ Iron man และ Thor รวมถึง Captain America โดยทุกเรื่องมาร์เวลทำมานั้นตัวละครทุกตัว เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ เกิดขึ้นในจักรวาลเดียวกัน เหตุการณ์จากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไปกระทบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกภาพยนตร์หนึ่ง หรือตัวละครจากเรื่องหนึ่งไปโผล่อีกเรื่องหนึ่งเป็นจุดเชื่อมโยง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2008-2011 แม้หลายเรื่องนอกจาก Iron man จะทำรายได้ไม่ดีนัก แต่มาร์เวลก็เข็นภาพยนตร์รวมฮีโร่ที่ใครหลายคนปรามาสตั้งแต่ก่อนเข้าดูว่าต้อง "เละ" แน่ๆ ออกมาในปี 2012 และภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็ทำให้มาร์เวลดังเป็นพลุแตก และกวาดรายได้ไปทั่วโลกไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5 หมื่นล้านบาท) หรือเป็นภาพยนตร์รายได้สูงสุดตลอดกาล (นับถึง 11 มิ.ย.) อันดับ 3 รองจากอวาตาร์และไททานิค

ส่งผลให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อของมาร์เวลคือตัวการันตีความสำเร็จของภาพยนตร์ โดยตั้งแต่ปี 2008 มาร์เวลทำรายได้จากภาพยนตร์ไปแล้วถึง 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่รวมรายได้จากภาพยนตร์ใหม่ล่าสุดอย่าง Avengers : Age of Ultron และ Ant-man ที่จะเข้าในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ แถมยังมีซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ตามมาอีกหลายเรื่อง

พอล เดอร์การาเบเดียน นักวิเคราะห์สื่ออาวุโสที่บริษัทวิจัยเรนแทรค เปิดเผยว่า การสร้างจักรวาลสำคัญเช่นเดียวกับการสร้างแฟรนไชส์ และยังมีอิทธิพลในการเรียกคนดูได้ในระยะยาวอีกด้วย

ขณะที่ อคิวา โกลด์แมน นักวางแผนจากพาราเมาท์พิกเจอร์ส หนึ่งในค่ายภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด เปิดเผยว่า การทำภาพยนตร์ให้เป็นจักรวาลจะกลายเป็นสิ่งแพร่หลาย โดยการพัฒนาเนื้อเรื่องระยะยาวจะทำให้ความสำเร็จของภาพยนตร์มีมากขึ้น

\'จักรวาลภาพยนตร์\' ของมาร์เวล จุดเปลี่ยนวงการฮอลลีวู้ด

 

"คุณมีแนวโน้มที่จะมีความผูกพันลึกซึ้งกับตัวละคร ถ้าคุณใช้เวลาอยู่กับตัวละครนั้นๆ มากขึ้นๆ" โกลด์แมน กล่าว

การใช้ "จักรวาลภาพยนตร์" เริ่มกลายเป็นกลยุทธ์ที่แพร่หลาย โดย ลูคัสฟิล์ม ที่ทางดิสนีย์ซื้อไว้เมื่อปี 2011 ตั้งใจจะออกภาคต่อของภาพยนตร์ไซไฟระดับตำนานอย่าง Star Wars พร้อมด้วยแผนจัดทำมีภาพยนตร์แยกตอนของแต่ละตัวละครออกมาในรูปแบบเช่นเดียวกับที่มาร์เวลทำ

นอกจากนี้ ไทม วอร์เนอร์ ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ ดีซี คอมิกส์ ค่ายการ์ตูนคู่แข่งตัวฉกาจของมาร์เวลก็วางแผนจะสร้างจักรวาลภาพยนตร์เช่นกัน โดยเริ่มจาก Man of Steel หรือซูเปอร์แมนที่เรารู้จักกันดีในปี 2014 ที่ผ่านมา และต่อด้วย Batman v Superman : Dawn of Justice ที่เราจะได้เห็นภาพยนตร์ร่วมฮีโร่ของฝั่งดีซีกันบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น ไทม์ วอร์เนอร์ ได้วางแผนสร้างภาพยนตร์ฮีโร่จากค่ายดีซีระยะยาวจนถึง 2020 เช่น Wonder Women และภาพยนตร์รวมพลังฮีโร่อย่าง The Justice League พาร์ตแรกในปี 2017 แถมด้วยการขนภาคแยกเกี่ยวสัตว์วิเศษของแฟรนไชส์พ่อมดจากเกาะอังกฤษ Harry Potter สู่สายตาสาธารณะในปี 2016

ด้าน ยูนิเวอร์เซล สตูดิโอ ก็ไม่น้อยหน้า เห็นได้จากแผนออกภาพยนตร์แอนิเมชั่นภาคแยกของ Despicable Me หรือเจ้าตัวเหลืองมีเนียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ในชื่อเดียวกับเจ้าตัวว่า Minions รวมถึงการรีเมกภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง The Mummy ในปี 2016 อีกด้วย

ความสำเร็จของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ไม่ได้กลายเป็นรูปแบบให้ค่ายอื่นๆ เอาอย่างเท่านั้น แต่ยังเดินเครื่องผลิตส่งต่อให้ตั้งแต่ผู้กำกับไปจนถึงดารานักแสดงให้รุ่งเรืองอีกด้วย ทั้งนักแสดงหน้าใหม่เอี่ยมแกะกล่องที่มีผลงานไม่กี่เรื่อง ไปจนถึงนักแสดงที่ช่วงชีวิตกำลังตกต่ำ

ยกตัวอย่างเช่น โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ที่หวนคืนสู่วงการแสดงได้อีกครั้งจากบทโรเบิร์ต สตาร์ก ในไอรอนแมน หรือ คริส เฮมเวิร์ธ นักแสดงชาวออสเตรเลียผู้สามารถแจ้งเกิดได้อย่างสวยงามกับบทธอว์ เทพเจ้าสายฟ้า

ไมเคิล เดอ ลูกา ผู้ผลิตและอดีตผู้บริหารโซนี่ เปิดเผยว่า ผู้คนต่างให้ความสนใจว่าใครจะเป็นผู้กำกับ ใครจะเป็นผู้แสดง จนไปถึงใครจะเป็นผู้เขียนบทให้แก่ภาพยนตร์มาร์เวล เพราะผลงานความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้ไม่อาจละสายตาได้

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างผู้ที่เคยทำงานให้กับมาร์เวล สตูดิโอ เปิดเผยว่า เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทางมาร์เวลไม่เลือกนักแสดง หรือแม้แต่ผู้กำกับที่อยู่ในระดับท็อปของวงการฮอลลีวู้ดก็คือ "เงิน" โดยมาร์เวลในช่วงแรกไม่ได้มีทุนเพื่อจ้างนักแสดงหรือผู้กำกับแถวหน้าที่มีค่าตัวเริ่มต้นที่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐได้

ขณะเดียวกัน เพื่อให้นักแสดงยอมเล่นภาพยนตร์ต่อเนื่อง ทางมาร์เวลจึงได้เซ็นสัญญากับนักแสดงเหล่านั้นเอาไว้มากกว่า 1 เรื่อง ไปจนถึง 6 เรื่อง และ 9 เรื่อง เพื่อให้เล่นภาพยนตร์ต่อ โดยทางมาร์เวลจะให้โบนัสแก่นักแสดงเมื่อภาพยนตร์ทำรายได้ได้ดี ซึ่งแม้จะฟังดูเผด็จการไปบ้าง แต่ทั้งนักแสดงและผู้กำกับก็พอใจกับประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกับมาร์เวล

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ "จักรวาลภาพยนตร์" ที่ทำให้คนดูโหยหาภาพยนตร์ตลอดเวลานั้น จะใช้ได้อีกนานแค่ไหน ยังคงต้องคอยดูกันต่อไป เพราะกระแสของโลกเปลี่ยนแปลงได้เสมอ โดย ฟิล คอนทรีโน หัวหน้านักวิเคราะห์เว็บไซต์บ็อกซ์ออฟฟิศ (BoxOffice.com) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงที่หลายสตูดิโอและค่ายภาพยนตร์หันมาใช้กลยุทธ์ที่เกือบจะคล้ายกัน จะทำลายระบบนิเวศของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จากข้อได้เปรียบในการปล่อยให้ผู้บริโภคต้องโหยหาภาพยนตร์และต้องการเพิ่มมากขึ้นอีก

"ปีหน้าจะเป็นปีที่โหดร้ายสำหรับจักรวาลภาพยนตร์ นับตั้งแต่ปี 2016 ไป เราจะได้เห็นว่ากลยุทธ์นี้จะโดนถอนหรือไม่" คอนทรีโน กล่าว