posttoday

กรีซประชามติครั้งหยุดโลก

06 กรกฎาคม 2558

ชาวกรีซออกไปหยั่งเสียงประชามติกันอย่างคับคั่งเมื่อวานนี้ ซึ่งคูหาได้เปิดขึ้นระหว่าง 07.00-19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรีซ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ชาวกรีซออกไปหยั่งเสียงประชามติกันอย่างคับคั่งเมื่อวานนี้ ซึ่งคูหาได้เปิดขึ้นระหว่าง 07.00-19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรีซ หรือประมาณ 11.00-23.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย  โดยทางด้านนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ไซปราส ถึงกับกล่าวว่า การประชามติในครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินชะตาของกรีซในกลุ่มยูโรโซนทีเดียว

ชาวกรีซจะร่วมออกเสียง ว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” แผนการปฏิรูปที่เสนอขึ้นของกลุ่มเจ้าหนี้ หากผลการประชามติปรากฏว่ารับ กรีซก็จะกลับสู่การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือต่อไป แต่หากผลออกมาในทางตรงกันข้าม ก็อาจจะส่งผลให้กรีซต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน หลังจากที่กรีซผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 1,600 ล้านยูโร กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“ไม่อาจมีใครเมินเฉยต่อความต้องการของประชาชนที่จะมีชีวิตอยู่ต่อด้วยความมุ่งมั่น ที่จะตัดสินชะตาด้วยมือของพวกเขาเองได้” ไซปราส กล่าวหลังจากออกไปใช้สิทธิหยั่งเสียงประชามติด้วยเช่นกัน

การประชามติในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่การเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อปลดล็อกเงินช่วยเหลือก้อนต่อไปให้กับกรีซนั้นล้มเหลว เมื่อรัฐบาลกรีซไม่ยอมรับในแผนการปฏิรูปหลายประการที่เสนอขึ้นโดยกลุ่มเจ้าหนี้ และกรีซจะต้องประกาศใช้มาตรการควบคุมทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศอย่างบ้าคลั่งด้วย

ขณะที่ทางด้านสหภาพยุโรป (อียู) และนักลงทุนต่างชาติ ต่างจับตาความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากถือว่าเป็นปัญหาท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของกลุ่มยูโรโซนนับตั้งแต่ก่อตั้งสกุลเงินยูโรเป็นครั้งแรกในปี 1999 ทีเดียว ซึ่งกรีซได้เข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโรในเวลา 2 ปีหลังจากนั้น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำสหภาพยุโรปต่างออกโรงเตือนว่า หากผลประชามติออกมาเป็น “ไม่รับ” ผลที่ตามมาอาจจะทำให้กรีซต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนในที่สุดทีเดียว กระนั้นทางด้านนายกรัฐมนตรี ไซปราส ของกรีซ ยืนยันว่า การหยั่งเสียงครั้งนี้มีขึ้นก็เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวกรีซเอง และจะเป็นการเปิดหน้าศักราชใหม่ของยุโรปอีกด้วย

ทั้งนี้ การประชามติครั้งนี้เป็นไปอย่างสูสี โดยสัดส่วนระหว่างประชาชนฝ่ายที่รับและไม่รับ แผนปฏิรูปนั้นค่อนข้างมีจำนวนพอๆ กันอย่างยิ่ง

ด้าน ยานิส วารูฟากิส รัฐมนตรีคลังกรีซ เคยประกาศไว้ว่าจะลาออกจากตำแหน่ง ถ้าประชาชนออกเสียงรับแผนปฏิรูปและเลือกที่จะอยู่ภายใต้ภาวะการรัดเข็มขัดต่อไป อีกทั้งยังเคยกล่าวว่า หากกลุ่ม
เจ้าหนี้เป็นพวกก่อการร้ายที่พยายามสร้างกระแสความหวาดกลัวถึงการออกจากกลุ่มยูโรโซนของกรีซ

ดมิทริส ฮาลัตซิว ครูชาวกรีซ ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสิ้นการหยั่งเสียงได้กล่าวว่า เจ้าตัวได้ออกเสียง “ไม่รับ” ไป เพราะว่าถือเป็นเพียงโอกาสเดียวที่เหลืออยู่เท่านั้นที่จะส่งแรงกดดันไปยังฝ่ายเจ้าหนี้ได้บ้าง ขณะที่ด้าน มิเชลิส คุณยายวัย 80 ปี ก็บอกว่า ออกเสียงไม่รับเช่นกัน เพราะดูเหมือนว่ากลุ่มเจ้าหนี้จะจ้องเล่นงานกรีซอย่างจริงจังมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ด้าน ธีโอดอรา อดีตผู้สื่อข่าววัย 61 ปี บอกว่าเจ้าตัวได้ออกเสียง “รับ” เพราะว่ากรีซจะได้อยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป

กระนั้นก็ตาม ด้านนักวิเคราะห์การเงินต่างตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆ ได้ โดยต่างเห็นว่าการเจรจาของกรีซ และเจ้าหนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นอีกครั้งอยู่ดี แม้ว่าผลออกมาจะเป็น “รับ” หรือ “ไม่รับ” ก็ตาม

ขณะที่ด้านนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกอย่าง โจเซฟ สติกลิตซ์ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐ ศาสตร์ และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐ กล่าวว่า ทางเลือกที่ย่ำแย่น้อย
ที่สุดสำหรับชาวกรีซ ก็คือการโหวต “ไม่รับ” และกรีซควรจะเลือกการออกจากกลุ่มยูโรโซน และกลับไปสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
ของตัวเอง เพราะอย่างน้อยกรีซก็จะสามารถกำหนดชะตากรรมได้ด้วยมือของกรีซเอง และแม้ว่าอนาคตของกรีซอาจจะไม่มั่งคั่งเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่ทว่าก็ยังมีหวังมากกว่าการถูกทรมานอย่างไร้สติอย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กรีซถูกประกาศว่าเป็นหนี้เสียอย่างเป็นทางการโดยกองทุนกลไกเพื่อเสถียรภาพทางการเงินแห่งยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กรีซอยู่ราว 1.446 แสนล้านยูโร หลังจากที่กรีซได้ผิดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้กรีซยังอยู่ภายใต้คำสั่งควบคุมทุนเพื่อป้องกันการไหลออกของทุน เพื่อป้องกันภาวะล้มละลายที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

“ประชาชนส่วนใหญ่กำลังเร่งซื้อและกักตุนอาหารกันแล้ว เพราะความหวาดกลัวว่าสถานการณ์จะถึงจุดที่แย่ที่สุดในเร็วๆ นี้” แอนเดรียส  คูตราส คุณป้าวัย 51 ปี กล่าว