อากาศยานแสงอาทิตย์
คงจะดีไม่น้อยหากเครื่องบินพาหนะหลักสำหรับการเดินทางไกลที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เปลี่ยนจากการใช้พลังงาน
คงจะดีไม่น้อยหากเครื่องบินพาหนะหลักสำหรับการเดินทางไกลที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เปลี่ยนจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน เป็นพลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ
ล่าสุด “โซลาร์ อิมพัลส์ 2” หรือเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ของสวิตเซอร์แลนด์ เดินทางออกจากรัฐฮาวาย ไปยังรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ แม้ก่อนหน้านี้จะต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและความเสียหายที่ปีก จนต้องหยุดพักที่ญี่ปุ่นก่อนจะออกเดินทางอีกครั้ง แต่ต้องสะดุดลงเพราะระบบแบตเตอรี่ได้รับความร้อนอย่างหนักจนต้องลงจอดที่รัฐฮาวาย
โซลาร์ อิมพัลส์ 2 เริ่มต้นทดสอบการเดินทางรอบโลกด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2015 จากกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก่อนจะแวะพักเครื่องที่โอมาน เมียนมา จีน และญี่ปุ่น โดยมีจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 1.7 หมื่นแผง บินด้วยความเร็ว 28 เมตร/ชั่วโมง ดังนั้นเที่ยวบินจากรัฐฮาวายไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียอาจใช้เวลานานถึง 59 ชั่วโมง หรือ 3 วัน
เบอร์แทรนด์ พิคคาร์ด นักบินของอากาศยานแสงอาทิตย์ลำดังกล่าว ระบุว่า การเริ่มต้นเดินทางอีกครั้งเป็นช่วงเวลาที่อัศจรรย์มาก และในขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดก็อาจรออยู่ข้างหน้า
แม้เครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องหยุดชะงักชั่วคราวหลายครั้ง แต่โซลาร์ อิมพัลส์ 2 ยังคงไม่ละทิ้งแผนที่จะบินข้ามสหรัฐและหยุดพักเครื่องที่มหานครนิวยอร์ก ก่อนจะบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปยังทวีปยุโรป และเดินทางกลับสู่จุดเริ่มต้นที่กรุงอาบูดาบี
บอร์ชเบิร์ก นักบินอีกราย ระบุว่า เมื่อปีก่อนเครื่องบินแสงอาทิตย์แสดงให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพมากพอในการบินนาน 5 วัน 5 คืนโดยไม่มีการหยุดพัก ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากเครื่องบิน เทคโนโลยี และมนุษย์
“ณ ตอนนี้ สิ่งที่พวกเราต้องการคือการเดินทางรอบโลกต่ออย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก เพื่อแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่เฉพาะเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่อยู่ภาคพื้นด้วย” บอร์ชเบิร์ก กล่าว