เรื่องน่ารู้ "วันแรดโลก" ถูกล่าไม่ยั้งจนเหลือแค่2.5หมื่นตัว
ประชากรแรดฮวบกว่า95% ในช่วง40ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปี58 ถูกล่าในแถบแอฟริกามากถึง 1.3 พันตัว ขณะที่ทั้งโลกเหลืออยู่แค่ 25,000 ตัวเท่านั้น
ประชากรแรดฮวบกว่า95% ในช่วง40ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปี58 ถูกล่าในแถบแอฟริกามากถึง 1.3 พันตัว ขณะที่ทั้งโลกเหลืออยู่แค่ 25,000 ตัวเท่านั้น
วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน World Rhino Day หรือ วันอนุรักษ์แรดโลก ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของแรดที่ยังคงถูก ล่าอย่างผิดกฏหมายอยู่ในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา แรดได้ลดจำนวนลงทั่วโลกกว่าร้อยละ 95
องค์กร WildAid ระบุว่า แรดถูกฆ่าเพียงเพื่อนำนอของมันไปทำเป็นเครื่องประดับและยาแผนโบราณในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในหลายพื้นที่ยังมีความเชื่อที่ว่านอแรดนั้นสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในยารักษาโรคมะเร็งได้ ทั้งที่ไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใดระบุว่ามันมีคุณสมบัติทางการแพทย์ใดๆ เลยก็ตาม
ในปัจจุบันนี้แรดเหลือเพียง 5 ชนิดพันธุ์ซึ่งทุกชนิดพันธุ์ล้วนแล้วแต่ถูกจัดอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ และประชากรแรดยังคงถูกล่าอย่างต่อเนื่องซึ่งหากการล่าแรดเพื่อเอานอยังคงดำเนินต่อไปในอัตราปัจจุบัน แรดจะสูญพันธุ์อย่างถาวรในช่วงชีวิตของเราทุกคน
ขณะที่ มูลนิธิแรดนานาชาติ (ไอออาร์เอฟ) เผยรายงานชิ้นใหม่พบว่า จำนวนแรดที่ถูกล่าในแถบแอฟริกาเพิ่มขึ้นเป็น 1,342 ตัวในปี 2558 ซึ่งถือเป็นการสูญเสียแรดมากที่สุดในรอบ 20 ปีด้วย โดยปัจจุบันมีจำนวนแรดในป่าราว 25,600 ตัว แต่ละวันมีแรดในแอฟริกาถูกล่าเพื่อเอานอราว 3 ตัว ซึ่งอาจส่งผลให้แรดสูญพันธุ์ได้
ภาพ เอเอฟพี
รู้หรือไม่?
โลกสูญเสียประชากรแรดไปกว่าร้อยละ 95 ภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา และสาเหตุหลักของการลดลงอย่างรวดเร็วนั้นมาจากการล่าแรดอย่างผิดกฎหมายเพียงเพื่อนำนอแรดไปเป็นเครื่องประดับและยาแผนโบราณ
นอแรดถูกใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาอาการเจ็บป่วยอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย และยังมีความเชื่อว่ามันสามารถนำมารักษาโรคมะเร็งได้ ทั้งที่ไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใดระบุว่ามันมีคุณสมบัติทางการแพทย์ใดๆ เลยก็ตาม
หลายคนอาจคิดว่าแรดถูกพบได้เพียงแค่ในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ หรือประเทศอินเดียเท่านั้นแต่รู้หรือไม่ว่าในผืนป่าของประเทศไทยเรานี้เองก็เคยเป็นที่อยู่อาศัยของแรดถึง 2 ชนิดพันธุ์ อันได้แก่ แรดชวาหรือระมาด และแรดสุมาตราหรือกระซู่ ที่ถูกประกาศว่า “สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ” ไปนับทศวรรษแล้ว
แรดถูกฆ่าเพียงเพื่อนอที่ทำมาจากเคราตินสารประกอบเดียวกับที่พบได้ในเส้นผมและเล็บของพวกเรา
แรดในแอฟริกาใต้จำนวนกว่า 1,200 ตัว ถูกฆ่าในปี 2557
แรดมีอิทธิพลที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์ โดยการช่วยควบคุมการเติบโตของพืช ดูแลรักษาทุ่งหญ้า ลดโอกาสการเกิดไฟไหม้ และทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
แรดใช้นอในการปกป้องลูกและเขตแดนของตนรวมถึงใช้ในการขุดหาแหล่งน้ำและ อาหารอีกด้วย
ผู้ล่าที่เป็นอันตรายต่อแรดมีเพียงเผ่าพันธุ์เดียว นั่นคือมนุษย์
แรดดำตะวันตก หรือแรดดำแอฟริกันตะวันตก เพิ่งถูกระบุว่า “สูญพันธ์” ในปี 2554 ที่ผ่านมา
ประชากรแรดกำลังอยู่ในสภาพไม่มั่นคง เนื่องจากแรดเพศผู้มักตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากนอขนาดใหญ่ของพวกมัน
ด้วยความสูงถึง 6 ฟุต แรดถูกจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ที่มีน้ำหนักได้มากถึง 6,000 ปอนด์