อนาคตของอาหาร! นักวิทย์บราซิลผลิตขนมปังจากแมลงสาบได้สำเร็จ
แป้งขนมปังจากแมลงสาบที่ประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็น คาดความหวังใหม่ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารโลก
แป้งขนมปังจากแมลงสาบที่ประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็น คาดความหวังใหม่ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารโลก
ในทศวรรษข้างหน้า ปัญหาการขาดแคลนอาหารจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเชื่อว่าแมลงจะกลายเป็นโภชนาการหลักสำหรับผู้คนในอนาคต ปัจจุบันตามซุปเปอร์มาร์เก็ตมีผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงวางจำหน่าย และในบางร้านอาหารเองเมนูอาหารที่ปรุงจากแมลงก็สามารถพบเจอได้ แต่หากจะแก้ไขปัญหาวิกฤติการขาดแคลนอาหารอย่างจริงจัง การนำแมลงมาใช้เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ใหม่นี้ต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นการแทนอาหารหลักอย่าง ข้าวสาลีเป็นต้น และล่าสุดสองนักวิทยาศาสตร์อาหารจากบราซิลได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแมลงสาบสายพันธุ์หนึ่ง ให้กลายเป็นแป้ง และสามารถนำมาอบเป็นขนมปังได้
Andressa Lucas และ Lauren Menegon สองนักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยสหพันธ์ Rio Grande ได้พัฒนาผงแป้งที่ผลิตขึ้นจากแมลงสาบ ความพิเศษอยู่ตรงที่แป้งดังกล่าวมีปริมาณโปรตีนมากกว่าแป้งปกติถึง 40% และสามารถนำไปใช้อบขนมปังได้ทุกชนิด นอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น และไขมันอีกด้วย
แต่ก่อนที่คุณผู้อ่านจะอี๋ไปมากกว่านี้ แป้งดังกล่าวไม่ได้ถูกผลิตมาจากแมลงสาบชนิดเดียวกับที่ชอบออกมาเพ่นพ่านในครัวของคุณยามค่ำคืนแต่อย่างใด พวกมันเป็นแมลงสาบสายพันธุ์พิเศษที่มีชื่อว่า Nauphoeta cinerea ซึ่งพวกมันถูกเพราะพันธุ์ขึ้นอย่างถูกสุขอนามัย โดยหน่วยงานเฝ้าระวังสุขภาพของบราซิล ที่เลี้ยงพวกมันด้วยผัก และผลไม้เท่านั้น
"เราเลือกแมลงสาบเพราะพวกมันเป็นแมลงที่มีโปรตีนสูง นั่นคือร้อยละ 70 และยังประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นถึง 8 ใน 9 ชนิด เช่น โอเมก้า 3 และโอเมก้า 9 เป็นต้น และแมลงสาบนั้นสามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งตัว โดยมีเศษอาหารเหลือจากกระบวนการผลิตน้อยมาก" สองนักวิทยาศาสตร์ให้สัมภาษณ์
แมลงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร นอกจากพวกมันจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว การบริโภคแมลงยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำปศุสัตว์อีกด้วย จากการใช้พื้นที่ในการผลิตน้อยลง น้ำ และอาหารที่นำไปเลี้ยงน้อยลง เมื่อเทียบกับปศุสัตว์อื่นๆ
อย่างไรก็ดีขั้นตอนการเปลี่ยนแมลงสาบมาเป็นแป้งนั้นไม่ถูกเปิดเผยแต่อย่างใด เชื่อกันว่าแมลงน่าจะถูกนำมาบดเป็นผง และรวมเข้ากับผงแป้งปกติ ซึ่งจากกระบวนการผลิตพบว่าขนมปังที่มีแป้งจากแมลงผสมอยู่เพียง 10% มีโปรตีนประกอบเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 49.16 เมื่อเทียบกับแป้งสาลีปกติและที่น่าสนใจไปกว่านั้น ใครก็ตามที่ได้ชิมบนมปังเหล่านี้ล้วนระบุว่า พวกเขาไม่อาจแยกความแตกต่างได้เลยระหว่างขนมปังปกติ และขนมปังที่มีแป้งแมลงสาบเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับส่วนผสมอื่นๆ เช่นการทำเค้กเป็นต้น ยิ่งทำให้ยากที่จะจับรสชาติของแมลงได้
อย่างไรก็ตามทั้ง Lucas และ Menegon พบว่าผู้คนยังไม่ค่อยสบายใจนักเกี่ยวกับไอเดียการนำแมลงมาทำอาหาร เมื่อพวกเขาลองให้ข้อมูลก่อนชิมว่าขนมปังเหล่านี้มีส่วนผสมของแป้งจากแมลงสาบ ผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ชิมมัน ดังนั้นทั้งสองจึงคาดหวังว่าทัศนคติของผู้คนที่มีต่อแมลงจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆจากการผลิตแป้งแมลงจากจิ้งหรีด และเต่าทองด้วย เนื่องจากเป็นแมลงที่ผู้คนไม่รังเกียจเท่าแมลงสาบ
ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุ ในปี 2050 โลกของเราจะไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อการผลิตอาหารเลี้ยงผู้คนทั้งโลกอีกต่อไป ในกรณีของการเพราะพันธุ์แมลง พื้นที่ขนาดเล็กมีส่วนช่วยเหลือระบบนิเวศอย่างมาก รวมไปถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการทำฟาร์มแมลงยังมีปริมาณน้อยอีกด้วย
"ในกระบวนการผลิต เราสามารถใช้แมลงได้หมดทั้งตัว 100% ซึ่งไม่อาจทำได้กับวัว เนื่องจากหลายส่วนนั้นมนุษย์ไม่ได้นำไปบริโภค ทุกวันนี้แม้การนำแมลงมารับประทานเป็นอาหารหลักจะยังคงไม่เกิดขึ้นจริง แต่ในอนาคตผู้คนจำเป็นต้องใช้มันอย่างแน่นอน" สองนักวิทยาศาสตร์กล่าว