โลกของเราจะเป็นอย่างไรหากน้ำแข็งทั้งหมดละลาย
ชมภาพกราฟฟิกจำลองทวีปต่างๆบนโลกของเราว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร หากน้ำแข็งทั้งหมดละลายเพราะภาวะโลกร้อน
ชมภาพกราฟฟิกจำลองทวีปต่างๆบนโลกของเราว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร หากน้ำแข็งทั้งหมดละลายเพราะภาวะโลกร้อน
หากมนุษย์ยังคงเดินหน้าเผาผลาญพลังงานฟอสซิลต่อไป ภาวะโลกร้อนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดน้ำแข็งที่อยู่บริเวณขั้วโลก และตามยอดเขาทั้งหมดละลายลง ระดับน้ำทะเลบนโลกจะสูงขึ้นรวม 65 เมตร และส่งผลให้หน้าตาของแผนที่โลกต่างออกไปจากเดิม แนวชายฝั่ง และทะเลภายในประเทศแห่งใหม่ๆจะถือกำเนิดขึ้น
หากรวมปริมาณของน้ำแข็งทั้งหมดบนโลกจะอยู่ที่ราว 5 ล้านลูกบากศ์ไมล์ นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่าต้องใช้เวลานานถึง 5,000 ปีกว่าที่น้ำแข็งทั้งหมดบนโลกจะละลายหมด หากเรายังคงเดินหน้าเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่โลกต่อไป ซึ่งในเวลานั้นพวกเขาคาดกันว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส
ทวีปอเมริกาเหนือ
บริเวณชายฝั่งทะเลแอตแลนติกจะหายไป รวมถึงชายฝั่งฟลอริดา และอ่าวเม็กซิโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เทือกเขาซานฟรานซิสโกจะกลายสภาพเป็นหมู่เกาะแทน ส่วนในพื้นที่ของ Central Valley จะกลายเป็นอ่าวขนาดใหญ่แทน ในขณะที่อ่าวซานฟรานซิสโกเดิมจะขยายพื้นที่ยาวไปจนถึงเมืองซานดิเอโก
ทวีปอเมริกาใต้
ผืนป่าอเมซอนทางตอนเหนือ และบริเวณลุ่มน้ำปารากวัยทางตอนใต้จะกลายเป็นแนวชายฝั่งใหม่ กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ชายฝั่งอุรุกวัย และพื้นที่ส่วนใหญ่ของปารากวัยจะหายไปจากแผนที่ ในขณะที่แนวเทือกเขาจะยังคงอยู่ เช่นเดียวกับบริเวณอ่าวแคริบเบียน และพื้นที่อเมริกากลาง
ทวีปแอฟริกา
เมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ ทวีปแอฟริกาสูญเสียพื้นที่จากน้ำท่วมน้อยที่สุด แต่ภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้สถานที่แห่งนี้ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง กรุงไคโร และเมืองอเล็กซานเดรียจะถูกน้ำทะเลกลืนหายไป
ทวีปยุโรป
ลอนดอนจะกลายเป็นเพียงความทรงจำ นครเวนิสจะถูกทะเลเอเดรียติกกลืนหายไป อีกหลายพันปีนับจากนี้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยน้ำ เดนมาร์กจะหายไป ในขณะเดียวกันทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลดำ และทะเลแคสเปียนจะขยายพื้นที่มากขึ้น
ทวีปเอเชีย
พื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนกว่า 600 ล้านคนจะถูกน้ำท่วมหมด รวมถึงบังกลาเทศที่มีประชากรจำนวน 160 ล้านคนด้วย หลายชายฝั่งในอินเดียจะถูกกลืน ส่วนแม่น้ำแม่โขงจะเอ่อล้นท่วมพื้นที่โดยรอบ ในขณะที่กรุงเทพมหานคร และบางส่วนของภาคกลางในประเทศไทยจะกลายเป็นทะเลหมด
ทวีปออสเตรเลีย
ภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้ออสเตรเลียเกิดทะเลทรายขนาดใหญ่ขึ้น น้ำท่วมจะสร้างทะเลภายในทวีป ออสเตรเลียจะสูญเสียพื้นที่ของเมืองตามแนวชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น ราว 4 ใน 5 ของจำนวนชาวออสเตรเลียในปัจจุบัน
ทวีปแอนตาร์กติกา
แผ่นน้ำแข็งทางตะวันออกของแอนตาร์กติกานั้นมีขนาดใหญ่มาก หรือคิดเป็นสัดส่วน 4 ใน 5 ของปริมาณน้ำแข็งทั่วโลก บรรยากาศที่อุ่นขึ้นจะส่งผลให้บริเวณนี้เกิดไอน้ำขึ้นจำนวนมาก ก่อนที่จะกลั่นตัวลงมาเป็นหิมะ ในขณะที่พื้นที่ทางตะวันตกนั้นมีลักษณะเหมือนกรีนแลนด์ นั่นคือมันเป็นทวีปที่มีขนาดเล็ก เมื่อปราศจากน้ำแข็งปกคลุม นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ทวีปแห่งนี้สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วเฉลี่ย 65 เมตริกตันต่อปี
ขอบคุณภาพจาก National Geographic