posttoday

SAICO ส่งผลไม้อบแห้ง บุกซีแอลเอ็มวี-จีน

22 สิงหาคม 2560

ผลไม้ไทย โดยเฉพาะมะม่วงถือเป็นที่โปรดปรานของผู้บริโภคเพื่อนบ้านทั้งในตลาดอาเซียนและจีนอย่างมาก

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ผลไม้ไทย โดยเฉพาะมะม่วงถือเป็นที่โปรดปรานของผู้บริโภคเพื่อนบ้านทั้งในตลาดอาเซียนและจีนอย่างมาก จึงทำให้ กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย และประธานกรรมการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปแบรนด์ SAICO เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้มากขึ้น

กัณญภัค บอกว่า ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดของแบรนด์ SAICO เป็นการส่งออกต่างประเทศ โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกไปอาเซียนและซีแอลเอ็มวีที่ผ่านมาถือว่าน้อยมาก เพราะต้องยอมรับว่า ในอาเซียนด้วยกันมีสินค้าและวัตถุดิบที่คล้ายกัน รวมทั้งยังมีต้นทุนค่าแรง ค่าเงินที่ต่ำกว่าไทย อีกทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งออก (จีเอสพี) อยู่ จึงน่าจะเป็นคู่แข่งในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องกับไทยมากกว่า โดยเฉพาะฟิลิปปินส์เป็นประเทศคู่ แข่งที่น่ากลัวมาก

เหตุนี้เองบริษัทจึงต้องพยายามขยายตลาด ด้วยการเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าใหม่เพื่อเปิดตลาด ซึ่งที่เริ่มทำไปแล้วก็คือ กลุ่มซอสปรุงรส โดยการเป็นผู้รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ให้กับหลายๆ แบรนด์

“เข้าใจว่า ภาครัฐต้องการส่งเสริมและพยายามบอกผู้ส่งออกสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า การสร้างแบรนด์เองเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลากว่าจะทำตลาดได้ ซึ่งต่างจากการเป็นโออีเอ็มที่สามารถทำตลาดได้กว้างกว่า นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ตัวเอง แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปูฐานตลาด สร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์ในอนาคตมากกว่า” กัณญภัค กล่าว

ทั้งนี้ SAICO มีแผนที่จะขยายไลน์การผลิตเพิ่มไปยังกลุ่มผลไม้อบแห้ง โดยจะเน้นทำการตลาดในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีและจีน ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ออกมาในปีนี้

“ตอนนี้อยู่ระหว่างการคิดและวางตำแหน่งสินค้าอยู่ว่าจะออกมารูปร่างอย่างไร เบื้องต้นตั้งใจว่าจะทำออกมาในลักษณะของขนมขบเคี้ยวที่มีหน้าตาทันสมัยขึ้นกว่าภาพผลไม้อบแห้งทั่วๆ ไปที่มักจะเป็นชิ้นๆ โดยตอนนี้ได้เริ่มทดลองตลาดในญี่ปุ่นอยู่ แต่ยังมีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนไม่มาก” กัณญภัค กล่าว

ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการเจรจากับทางคิง เพาเวอร์ เพื่อเป็นโออีเอ็มในการผลิตสินค้าป้อนให้ หากทำได้ก็จะทำให้การขยายตลาดของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปได้กว้างและเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการขยายการลงทุนออกไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีการชักชวน เสนอให้บริษัทเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชาและเมียนมา

กัณญภัค บอกว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และความเหมาะสมในการขยายการลงทุนเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต้องรอดูตลาดก่อนว่าสินค้าควรเป็นแบบไหน และจะเข้าไปอย่างไร แม้ว่าการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านจะมีโอกาส เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และยังไม่มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่พร้อมเท่าไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้วยบรรจุภัณฑ์ เพราะหากจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วต้องนำเข้าวัตถุดิบอย่างกระป๋องจากไทยเข้า ต้นทุนเมื่อเทียบกับแล้วอาจไม่คุ้มก็ได้

อย่างไรก็ดี หากมองถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการขยายการลงทุนออกไปประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชาน่าจะเป็นประเทศที่มีโอกาสและความน่าสนใจมากกว่า

สำหรับการขยายตลาดไปจีนนั้น กำลังพัฒนาและเริ่มนำกลับมาดูใหม่หลังทิ้งไปนาน เนื่องจากมีกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าด้านอาหารค่อนข้างเยอะ และสินค้าในกลุ่มสับปะรดกระป๋องประเทศไทยก็ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับจีนไว้ หากหาผู้นำเข้าหรือดิสทริบิวเตอร์ที่ดีไม่ได้ก็อาจเจอปัญหาในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ จึงทำให้บริษัทต้องใช้เวลาในการศึกษาให้รอบคอบก่อนเข้าไป