J-Cruises 21
เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 6 ของการเที่ยว เรือเข้าเทียบท่า Kagoshima
เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 6 ของการเที่ยว เรือเข้าเทียบท่า Kagoshima ตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ผมทำเวลาไปล่องเรือสำราญในญี่ปุ่นคือ การค้นหาสัญญาณไว-ไฟ เพราะปกติเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะใช้พ็อกเกตไว-ไฟในการเชื่อมต่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทีนี้พออยู่บนเรือค่าไว-ไฟแพงมาก จะใช้ของเรือตลอดก็ไม่ไหว แต่ก็ต้องซื้อเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินซัก 100 นาที ดังนั้นเวลาเรือเข้าใกล้แผ่นดินจนจับสัญญาณไว-ไฟได้นี่ตื่นตัวกันแทบทุกคน วิธีนึงที่ผมทำคือ เปิดเครื่องรับสัญญาณไว-ไฟตลอดคืนและเปิดเสียงโทรศัพท์มือถือทิ้งไว้ด้วย พอมีสัญญาณไว-ไฟปุ๊บโทรศัพท์ก็ดังดึ๊งๆๆ ตั้งแต่ยังไม่หกโมงเช้าเป็นการปลุกไปด้วยในตัว ตำแหน่งที่เรือจอด วันนี้สามารถมองเห็นภูเขาไฟซากุระจิมะได้อย่างชัดเจน บนท่าเรือเห็นมีอาคารหลังเล็กและเต็นท์บริการต่างๆ รวมทั้งรถบัสรับส่งก็มาจอดรออยู่แล้ว ทว่าเมฆครึ้มลอยเต็มท้องฟ้าและปกคลุมไปถึงยอดซากุระจิมะ มีทีท่าว่าวันนี้จะเจอฝนเป็นแน่
ผมที่ตั้งใจว่าจะเข้าเมืองไปหาชาบูหมูดำกินเลยลังเลเล็กน้อย แต่เนื่องจากยังเช้าอยู่เลยมีเวลาคิดอีกหลายชั่วโมง เมื่อคืนยังอิ่มอาหารอิตาเลียนไม่หายเช้านี้เลยขอบาย ไปนั่งละเลียดกาแฟลาเต้ที่ชั้น 5 กับมัฟฟินก็อิ่มแล้ว ระหว่างนั่งกินเจอน้องๆ ทีมงานกำลังคุยเครียด ลองสอบถามดูได้ความว่าน้องพิธีกร 2 คน ดันลืมก๊อบปี้หนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าญี่ปุ่นไว้บนรถบัสคันเมื่อวานตอนลงไปเที่ยวที่โคจิ ซึ่งตามกฎของเรือเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจเอกสารการขึ้นลงเรือทุกครั้งแต่เมื่อวานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอดูเอกสารตัวนี้เลยไม่ได้เอะใจ ทีนี้ถ้าวันนี้ลงจากเรือแล้วขากลับเจ้าหน้าที่ดันเข้มงวดขอดูเอกสารแล้วไม่มีนี่เป็นเรื่องทันทีเพราะจะกลับขึ้นเรือไม่ได้
อีกประการอย่างที่เคยให้ข้อมูลไว้เมื่อหลายตอนก่อนว่า ถ้าเอกสารตัวนี้หายจะต้องถูกปรับ 2,500 เหรียญ ทั้งน้องพิธีกรและทีมงานเลยเครียดกันใหญ่ จะเอาคอนเทนต์ที่ไหนมาใส่แทนและจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย สุดท้ายก็เลยไปช่วยคุยกับคุณเอลก้า Customer Services Director ที่คอยอำนวยความสะดวกผมและทีมงานตั้งแต่วันแรกให้รับทราบ คุณเอลก้าบอกไม่มีปัญหาเพราะก่อนเรือออกจากน่านน้ำญี่ปุ่น จะต้องส่ง Passenger Manifest หรือรายชื่อผู้โดยสารให้กับกองตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น ซึ่งเค้าจะใส่ชื่อน้องๆ ลงไปให้แม้ไม่มีเอกสารตัวนั้นเพราะยืนยันตัวตนของพวกเราได้จริงไม่ได้มั่วนิ่ม แต่ต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนว่า นี่เป็นกรณีพิเศษที่ท่านอาจจะไม่ได้โชคดีเหมือนทีมงาน ดังนั้นต้องตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนก่อนขึ้นหรือลงเรือทุกครั้ง
หลังจากแก้ปัญหาเรื่องเอกสารเรียบร้อยก็มาถึงเรื่องคอนเทนต์ คุณเอลก้าบอกว่าวันนี้มีซ้อมอพยพในส่วนของลูกเรือ ถ้าไม่รังเกียจก็อยู่ร่วมชมได้ ผมเลยตัดสินใจไม่ออกไปกินชาบู อยู่สังเกตการณ์ร่วมกับทีมถ่ายรายการดีกว่า ในสถานะของผู้โดยสารสิ่งที่เห็นอยู่นี้เป็นที่ตอกย้ำความมั่นใจว่าการล่องเรือสำราญมีความปลอดภัยสูง ลูกเรือฝึกซ้อมทุกรอบของการออกเรือไม่ใช่นานๆ ครั้ง และก็จริงจังไม่ได้ทำเล่นๆ ขำๆ ตอนเราซ้อมอพยพฉุกเฉินก็จะมีจุดรวมพลของผู้โดยสาร ลูกเรือก็จะมีจุดรวมพลของตัวเอง แต่เป็นการรวมพลเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้โดยสารไม่ให้เกิดความโกลาหลหรือวุ่นวาย เพราะอุปกรณ์ช่วยชีวิตทุกอย่างนั้นมีเพียงพอสำหรับทุกคน อีกเรื่องที่พึงต้องทราบคือ เรือขนาดใหญ่แบบนี้หากมีปัญหาถึงขั้นต้องอพยพก็มิใช่ว่าจะจมกันในเวลาอันสั้น หากกัปตันตัดสินใจประกาศสละเรือก็มิใช่ว่าเรือจะจมลงภายในไม่กี่นาที ยังมีเวลามากพอที่จะลำเลียงผู้โดยสารไปลงเรือชูชีพ ขอแค่อย่าวุ่นวายหรือโกลาหลเท่านั้นแหละครับ
หลังชมลูกเรือจบก็ย้ายวิกไปที่กราบเรือเพื่อชมการฝึกซ้อมเอาเรือชูชีพอีกฝั่งนึงลงน้ำ เมื่อวานแอบดูแวบๆ ไปแล้ว แต่วันนี้ดูแบบมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกเลยเข้าถึงได้เกือบทุกจุด ที่ผมสนใจมากสุดก็เรือชูชีพนี่แหละ เสียดายที่ทางเรือมีข้อห้าม ไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารเข้าไปในเรือชูชีพถ้าไม่มีเหตุจำเป็น เลยได้แต่มองจากด้านนอกเข้าไป บนเรือ Sapphire Princess มีเรือชูชีพ (Lifeboat) 16 ลำ และเรือรับส่งขึ้นฝั่ง (Tender) ที่จะแปรสภาพเป็นเรือชูชีพในกรณีฉุกเฉินอีก 6ลำ รวม 22 ลำ แต่ละลำจุผู้โดยสารได้สูงสุด 150 คน เท่ากับ 3,300 คน ในขณะที่เรือ Princess ลำนี้จุผู้โดยสารได้ 2,670 คน ก็เท่ากับว่าเกินพอสำหรับผู้โดยสารและลูกเรือที่จะคอยดูแลเรือชูชีพในแต่ละลำ ส่องเข้าไปด้านในตัวเรือมองเห็นเก้าอี้เรียงเป็นแถว
ในเรือจะมีระบบขับเคลื่อนพร้อมอุปกรณ์นำร่องและสื่อสารครบถ้วน รวมทั้งอาหารที่ให้พลังงานและน้ำดื่มจำนวนหนึ่ง เลยถามไปว่าในกรณีที่ต้องอยู่กลางทะเลนานๆ จะมีอาหารและน้ำดื่มเพียงพอเหรอ เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า ที่พวกเราไปเยี่ยมสะพานเดินเรือเมื่อสองสามวันก่อนได้เห็นจอเรดาร์แล้วใช่มั้ย ซึ่งเส้นทางเดินเรือของเรือสำราญโดยมากจะวิ่งเลาะชายฝั่งหรือขอบทวีป หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็มักจะได้รับความช่วยเหลือในเวลาไม่นานมาก หรือหากเป็นการเดินเรือในเส้นทางข้ามทะเลหรือมหาสมุทรก็มักจะเป็นเส้นทางมาตรฐานที่มีเรือสำราญหรือเรือสินค้าลำอื่นๆ อยู่บนเส้นทางเดียวกันตามที่เราเห็นในเรดาร์ ซึ่งวันนั้นเจ้าหน้าที่บนสะพานก็บอกไว้แล้วว่าทราบข้อมูลของเรือทุกลำที่อยู่ในรัศมี
หากเกิดเหตุฉุกเฉินเรือเหล่านี้แหละจะเป็นเรือชุดแรกๆ ที่มาช่วยเหลือเรา ดังนั้น 24 ชั่วโมงแรกจะยังไม่มีการใช้อาหารหรือน้ำดื่มที่อยู่ในเรือเพราะความช่วยเหลือมักจะมาถึงก่อน 24 ชั่วโมงเสมอ ต้องขอบคุณเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้การเดินเรือข้ามมหาสมุทรมีความอุ่นใจมากยิ่งขึ้น นอกจากเรือชูชีพและเรือลำเลียงแล้ว ยังมีเรืออีกประเภทหนึ่งคือ Rescue Boat หรือเรือกู้ภัยซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่ามากและจุได้แค่ไม่กี่คนเพราะมีวัตถุประสงค์ที่ต่างออกไปเช่นกรณีมีคนตกเรือก็เอาเรือกู้ภัยออกไปช่วยเป็นต้น ดังนั้นเรือกู้ภัยจะมีความเร็วสูงกว่าเรืออีก 2 ประเภท
เจ้าหน้าที่ที่เคยเห็นใส่ชุดขาว วันนี้เปลี่ยนไปใส่ชุดสีกากีกันเป็นส่วนใหญ่ ผมสงสัยเลยสอบถามได้ความว่าชุดสีกากีจะไว้ใช้ในงานที่มีโอกาสเลอะเปรอะเปื้อน เช่น ลงไปที่ห้องเครื่อง รวมถึงการนำเรือชูชีพขึ้นลงด้วย การทดสอบนั้นต้องสร้างความมั่นใจว่าทุกครั้งที่จะนำเรือชูชีพลง อุปกรณ์ส่งลงน้ำจะทำงานได้อย่างไม่ติดขัดเพราะมันจะหายนะขนาดไหนที่มีเรือพอแต่เอาลงน้ำไม่ได้ หลังนำเรือลงน้ำก็ต้องทดสอบเครื่องยนต์ว่าวิ่งได้จริง และอุปกรณ์ทุกอย่างในเรือยังทำงานได้เป็นปกติ เมื่อทดสอบการขับเคลื่อนเรือแล้วจึงนำเรือขึ้นมาเก็บเข้าตำแหน่งเดิมก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมในวันนี้