ย้อนโมเมนต์สำคัญตลอด76ปีในชีวิตของ "สตีเฟน ฮอว์คิง"
รวมเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับ "สตีเฟน ฮอว์คิง" นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ตลอดช่วงเวลา 76 ปีในชีวิตของเขา
รวมเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับ "สตีเฟน ฮอว์คิง" นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ตลอดช่วงเวลา 76 ปีในชีวิตของเขา
หลังการเสียชีวิตอย่างสงบของ "สตีเฟน ฮอว์คิง" นักฟิสิกส์และนักจักรวาลผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ลูกๆทั้งสามของเขาได้ระบุข้อความถึงบิดาเอาไว้ในตอนหนึ่งของถ้อยแถลงที่มีต่อสื่อมวลชนว่า "ความกล้าหาญและความเพียรพยายาม ความชาญฉลาดและอารมณ์ขันของฮอว์คิง ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายทั่วโลก"
แม้ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นและสื่อสารความคิดในสมองออกไปสู่โลกด้วยการใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงพูดที่ควบคุมด้วยการกะพริบตา ทว่าอัจฉริยะคนนี้ก็ไม่เคยย่อท้อต่ออาการป่วยของร่างกาย
ฮอว์คิงเคยกล่าวไว้ว่า "จงแหงนหน้ามองดวงดาว ไม่ใช่เท้าของเรา" ผลของการแหงนหน้ามองดาวของเขา ทำให้มนุษย์ชาติได้พบกับความรู้อันทรงคุณค่ามากมาย
ต่อไปนี้คือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับ ฮอว์คิงตลอดช่วงเวลา 76 ปีที่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้
ฮอว์คิงเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 1942 ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของ "กาลิเลโอ กาลิเลอี" นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอิตาลี
เขาเกิดที่เมืองอ็อกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ เป็นบุตรคนโตที่สุดในจำนวนพี่น้องทั้ง 4 คน โดยบิดาคือ แฟรงค์ ฮอว์คิง เป็นนักชีววิทยา และ อิซาเบล ฮอว์คิง มารดาเป็นนักวิจัยทางการแพทย์
ปี 1952 เข้าเรียนที่โรงเรียน เซนต์อัลเบนส์
ปี 1959 ได้รับทุนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยเขาจบในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science)
ปี 1962 ได้รับทุนวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาด้านจักรวาลวิทยาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ปี 1963 ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค ALS ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบเส้นประสาท โดยหมอระบุว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ส่งผลให้เขาต้องนั่งรถเข็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปี 1965 แต่งงานกับ "เจน ไวลด์" ภรรยาคนแรก ซึ่งทั้งสองพบรักกันในช่วงศึกษาที่เคมบริดจ์ ดังจะเห็นได้จะภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything หรือ ทฤษฎีรักนิรันดร สองปีต่อมา ทั้งคู่ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกชื่อโรเบิร์ต และปี 1970 ก็ให้กำเนิดบุตรสาวที่ชื่อลูซี่
ปี 1974 ฮอว์คิง ได้เป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตยสถานของอังกฤษ
ปี 1977 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์แรงโน้มถ่วง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ปี 1979 ได้รับการแต่งตั้งเป็น "เมธีคณิตศาสตร์ลูเคเชียน" (Lucasian Chair of Mathematics) ซึ่งเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติเดียวกับที่เซอร์ ไอแซก นิวตัน เคยได้รับตำแหน่งนี้
ฮอว์คิงดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี 2009 และในปีเดียวกันนี้ภรรยาของเขาก็ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สามชื่อ ทิโมธี
ปี 1985 ฮอว์คิงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเจนีวาด้วยโรคปอดบวม เขารอดชีวิตได้หลังจากการผ่าตัด แต่เขาสูญเสียการพูดไป และ ในปีถัดมาเขาเริ่มเรียนรู้การสื่อสารผ่านอุปกรณ์สังเคราะห์เสียงอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voice Synthesizer)
ปี 1988 ตีพิมพ์งานเขียนที่ชื่อ "A Brief History of Time" หนังสือเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาและกลายเป็นหนังสือขายดีสูงสุดถึง 10 ล้านเล่ม
ปี 1989 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แต่ภายหลังเขาปฏิเสธที่จะรับเกียรตินี้
ปี 1995 แต่งงานใหม่กับพยาบาลที่เคยดูแลเขาที่ชื่อ "อีเลน เมสัน" กระทั่งปี 2007 ทั้งคู่ได้หย่าขาดจากกัน
ปี 2014 มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything หรือชื่อภาษาไทยว่า ทฤษฎีรักนิรันดร นำแสดงโดยเอดดี เรดเมย์น รับบทเป็นฮอว์คิง ในช่วงที่พบรักกับภรรยาคนแรก ซึ่งจากบทบาทนี้ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
14 มีนาคม 2018 ฮอว์คิงได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่บ้านพักในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" บุคคลที่สร้างแรงบันดาลให้เขาเขียนหนังสือ A Brief History of Time นั้นเอง นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ของโลก