สำรวจพิธีราชาภิเษกในราชวงศ์ยุโรป
โดย ... ชยพล พลวัฒน์
โดย ... ชยพล พลวัฒน์
ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม เป็นช่วงเวลาแห่งความปลื้มปิติยินดีของพสกนิกรชาวไทยที่ครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตจะได้มีโอกาสชมพระราชพิธีประวัติศาสตร์อันสำคัญที่หาชมได้ยากยิ่ง คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ ขอรวบรวมพิธีราชาภิเษกของราชวงศ์ยุโรป ซึ่งแม้พิธีราชภิเษกของราชวงศ์ยุโรปในปัจจุบันนั้นจะแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่เป็นการตัดพิธีทางศาสนาออกไป เนื่องจากเหตุผลด้านการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน แต่ก็ยังมีบริบทอื่นที่น่าสนใจและน่าศึกษาเช่นกัน
สำหรับพิธีราชาภิเษกนั้น เป็นพิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อสถาปนาให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะพระราชาหรือพระจักรพรรดิอย่างสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศจะใช้คำเรียกที่แตกต่างกันออกไปเช่น Coronation, Proclamation หรือ Inauguration ตามแต่ละบริบทของพิธีการในแต่ละประเทศ
ความเชื่อทางคริสตศาสนาในยุโรปพิธีสวมพระมหามงกุฎถือเป็นจุดเด่นของพิธีราชาภิเษก แต่ในบางราชวงศ์ก็ไม่เคยปรากฏข้อมูลว่ามีพิธีสวมพระมหามงกุฎมาก่อนเช่นกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ขณะที่หลายประเทศในยุโรปต่างก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีราชาภิเษกให้สอดคล้องกับยุคสมัย และลดทอนความเกี่ยวข้องทางศาสนาลงเช่น
เดนมาร์ก - การประกาศการเสด็จขี้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2
ราชอาณาจักรเดนมาร์กในปัจจุบันปกครองด้วยราชวงศ์ชเลสวิก-โฮลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-กลึคสบวร์ก โดยพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างเต็มรูปแบบตามราชธรรมเนียมนั้นถูกจัดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 1849 โดยก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ปี 1660 พระมหากษัตริย์เดนมาร์กจะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเต็มรูปแบบ
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กจะทรงเข้าพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ตามศาสนาจากนั้นตามด้วยพิธีการสวมมงกุฎ แต่ทว่าพิธีนี้ถูกยกเลิกไปหลังจากที่เดนมาร์กเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในปี 1849
โดยพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 พระประมุขแห่งเดนมาร์กองค์ปัจจุบันทรงมิได้ประกอบพิธีราชาภิเษกตามข้างต้นแต่อย่างใด พิธีของพระองค์เป็นไปในลักษณะการประกาศขึ้นครองราชย์ (Proclamation) ซึ่งมีขึ้นหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่ง เดนมาร์ก พระราชบิดาสวรรคต ด้วยการที่ทรงเสด็จออกยังสีหบัญชรของพระราชวังพระราชวังคริสเตียนบอร์ก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 1972 พร้อมกับนายเจนส์ ออตโต คร้าก นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์กในขณะนั้นได้ประกาศข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9
"สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 สวรรคตแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถทรงพระเจริญ" จำนวน 3 ครั้ง ก่อนจะขานพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 เป็นพระประมุขพระองค์ใหม่ต่อหน้าสาธารณชน จากนั้นนายกรัฐมนตรีนำกล่าว"ไชโย"ในแบบภาษาเดนนิชว่า "Hurrah"
สวีเดน - พิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ
พิธีราชาภิเษกอย่างเต็มรูปแบบของราชวงศ์สวีเดนจัดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 1873 รัชสมัยของพระเจ้าออสก้าที่ 2 ส่วนพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ องค์พระประมุขปัจจุบัน
มีขึ้นหลังจากที่เจ้าชายกุสตาฟ อดอลฟ์ พระราชบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ลงกระทันหัน จึงทรงต้องรับหน้าที่พระรัชทายาทต่อจากสมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน พระราชอัยยกา
พิธีการขึ้นครองราชย์ (Enthronement) ของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ มีขึ้นที่ท้องพระโรงพระราชวังหลวงกรุงสตอกโฮล์มในวันที่ 19 กันยายน 1973 โดยมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์วางอยู่ทางด้านขวาและด้านซ้ายของพระราชบัลลังก์สีเงิน แต่ไม่มีพิธีสวมมงกุฎแต่อย่างใด จากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ทรงมีพระราชดำรัสต่อพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญที่เข้าเฝ้า
สเปน - การครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน
สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน ทรงเป็นพระประมุขแห่งสเปนสายราชวงศ์บูร์บง การขึ้นประกาศขี้นครองราชย์สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 นั้นมีขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2014 หลังการประกาศสละราชสมบัติของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 พระราชบิดา
พิธีราชาภิเษกอย่างเต็มรูปแบบของราชวงศ์สเปนนั้นไม่ปรากฎมานานแล้ว มีเพียงแตกษัตริย์ในยุคกลางของสเปนเท่านั้นที่พบข้อมูลว่ามีพิธีสวมมงกุฎบรมราชาภิเษกเต็มรูปแบบ ประกอบกับความวุ่นวายช่วงสงครามกลางเมืองสเปนก็เป็นส่วนที่ทำให้หลายธรรมเนียมในราชวงศ์ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
แม้สเปนจะเป็นประเทศคาทรอลิก แต่สำหรับพิธีการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 นั้นไม่มีพิธีการทางศาสนาแต่อย่างใด และใช้คำในภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า "Proclamation" หรือในภาษาสเปนว่า Proclamación de Felipe VI
โดยพิธีเริ่มต้นที่พระราชวังซาร์ซูเอลา ที่ประทับโดยพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 ทรงลงพระปรมาภิไธยสละราชสมบัติ พร้อมพระราชทานสายสะพายจอมทัพแห่งสเปนแก่พระองค์ โดยมีผู้นำกองทัพสเปนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นสักขีพยาน
จากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน และสมเด็จพระราชินีเลตีเซียแห่งสเปน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารรัฐสภา พิธีสำคัญอยู่ที่การที่สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ทรงกล่าวสาบานตนต่อรัฐธรรมนูญท่ามกลางที่ประชุมรัฐสภา Cortes Generales ท่ามกลางนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยมีนาย Jesús Posada Moreno ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ประกอบพิธีการดังกล่าว ในการนี้มีการอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์สเปน สองชิ้นอันประกอบด้วยพระมหามงกุฎและพระคทาอันเป็นเครื่องหมายแสดงพระราชสถานะประกอบในพิธีด้วย
พิธีการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับสมัยที่พระราชบิดาทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาแห่งสเปนเมื่อปี 1976 เช่นกัน
เนเธอร์แลนด์ - พิธีสาบานตนของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์
สำหรับพิธีสาบานตนของพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์นั้น ใช้คำอย่างเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า "Inauguration" หรือเสมือนการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในรูปแบบสามัญชน ซึ่งคล้ายกับการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐ แม้พิธีสาบานตนของกษัตริย์เนเธอร์แลนด์จะประกอบพิธีภายในมหาวิหาร Nieuwe Kerk ใจกลางกรุงอัมสเตอร์ดัม แต่รูปแบบพิธีการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทางศาสนา รวมถึงไม่มีพิธีการสวมมงกุฎ
สำหรับพิธีสาบานตนของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์มีขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2016 ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกเริ่มต้นที่พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม โดยที่ประชุมร่วมกันประธานสภาแห่งรัฐ (Raad van State) นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฏร และผู้ว่าการรัฐดินแดนโพ้นทะเลของเนเธอร์แลนด์
ร่วมเป็นสักขีพยานการลงพระนามาภิไธยสละราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์ หลังจากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ ในฐานะองค์รัชทายาททรงลงประปรมาภิไธยขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป
จากนั้นพิธีในส่วนที่สองจะเป็นพิธีการที่ประกอบภายในมหาวิหาร Nieuwe Kerk ท่ามกลางที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาทั้งสองสภา (Staten Generaal) และบุคคลสำคัญ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ จะทรงมีพระราชดำรัสสาบานตน ในการนี้มีการอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งเนเธอร์แลนด์อันประกอบด้วย พระมงกุฎ พระคทา และลูกโลกกางเขนทองคำ
หลังจากพิธีสาบานตนของพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลดน์แล้ว ประธานสภาจะขานชื่อสมาชิกทั้งหมดของ Staten Generaal เพื่อสาบานตนต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วยสองคำกล่าวคือ "Zo waarlijk helpe mij God Almachtig" (ขอพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทรงอวยพร) หรืออีกคำสั้นๆ ว่า "Dat beloof ik" (ข้าพเจ้าขอสัญญา)
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง
ส่วนพิธีบรมราชาภิเษก (Coronation) อย่างเต็มรูปแบบในราชวงศ์ยุโรปที่ยังปรากฎอยู่นั้นคือพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1953 ซึ่งเป็นพิธีที่เกี่ยวข้องทางศาสนาโดยตรง ประกอบพิธีขึ้นภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์โดยมีอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอร์รี่แห่งคริสตจักรอังกฤษเป็นผู้ประกอบพิธี
ส่วนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษนี้ ประกอบด้วยหลายส่วนทั้งการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งราชวงศ์อังกฤษบนบัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด หรือ บัลลังก์ราชาภิเษก ซึ่งจะถูกนำออกมาใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น
การสวมพระมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นมงกุฎองค์ที่มีน้ำหนักถึง 2.2 กิโลกรัม และมีประวัติศาสตร์เก่าแก่นับย้อนกลับไปได้ถึงพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยุคค.ศ. 1161
ส่วนรูปแบบของมงกุฎที่เห็นในปัจจุบันนั้นได้รับการปรับปรุงเมื่อปี 1661 ซึ่งในพิธีการสวมมงกุฎของกษัตริย์อังกฤษจะมีขึ้นพร้อมกับการบรรเลงเพลง Zadok the Priest ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่ใช้ประกอบในพิธีบรมราชาภิเษกเรื่อยมา