อลัน ทัวริงผู้ช่วยชีวิตคนนับล้าน แต่กลายเป็นอาชญากรเพราะรักผู้ชาย
อลัน ทัวริงเป็นนักคณิตศาสตร์ที่โดดเด่น งานของเขาส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของเราในทุกวันนี้
อลัน ทัวริงเป็นนักคณิตศาสตร์ที่โดดเด่น งานของเขาส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของเราในทุกวันนี้
************************
ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ หรือ BoE ประกาศว่าภาพของ "อลัน ทัวริง" ผู้ทำลายรหัสลับของนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับเลือกให้นำมาพิมพ์ที่หลังของธนบัตรมูลค่า 50 ปอนด์ใหม่ของสหราชอาณาจักร และมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ยังยกย่องว่า "อลัน ทัวริง เป็นนักคณิตศาสตร์ที่โดดเด่น งานของเขาส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของเราในทุกวันนี้”
ผู้ว่าการ BoE ยังยกย่องทัวริงว่า เป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ และยังเป็นวีรบุรุษสงคราม และยังเป็นผู้ปฏิวัติให้เกิดแนวทางใหม่ๆ เพื่อที่คนในยุคของเรามีวันนี้ได้
แม้คนยุคเราจะชมเชยอลัน ทัวริงมากมายแค่ไหน และเขาจะเคยช่วยชีวิตผู้คนหลายล้านให้รอดพ้นจากสงครามมากเพียงใด แต่ชีวิตของเขาน่าเศร้า เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเครดิตเท่าที่ควรแล้ว ยังต้องมาถูกกดขี่เพราะกฎหมายของอังกฤษที่ปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศอย่างป่าเถื่อน
ธนบัตรภาพทัวริง Photo by OLI SCARFF / AFP
ทัวริงเป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ จบการศึกษาเกียรตินิยมด้านคณิตศาสตร์จาก King's College แห่งเคมบริดจ์ และทำงานด้านคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ โดยคิดค้นกลไกด้านการคำนวณและทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เอาไว้มากมาย จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น เขาก็เข้ามาร่วมทีม GC&CS ซึ่งเป็นทีมไขรหัสสัญญาณของฝ่ายนาซีเยอรมัน
ฝ่ายเยอรมันใช้เครื่องอินิกมา (Enigma machine) ซึ่งเข้ารหัสอย่างซับซ้อนทำให้ยากต่อการแกะข้อมูล และกองทัพเยอรมันมั่นใจว่าจะไม่มีใครสามารถถอดรหัสลับได้
ทัวริงกระโจนเข้ามาลุยแก้รหัสอินิกมาด้วยตัวเองเพราะว่า "ไม่มีใครทำอะไรกับมันเลย ผมเลยเอามันมาเป็นของผม" เขาเริ่มถอดรหัสในปี 1939 ร่วมกับทีมงาน และผลที่ได้คือเครื่อง Bombe และกระบวนการ Banburismus ที่ถอดรหัสอินิกมาได้ในที่สุด เขายังถอดรหัสลอเรนซ์ (Lorenz) ที่เยอรมนีใช้ในกองทัพเรือ โดยใช้เครื่อง Turingery และยังพัฒนากระบวนการ Delilah ในการเข้ารหัสคำพูดด้วย
หากทัวริงและทีมงานไม่ได้ถอดรหัสของเยอรมันและสกัดกองทัพเรือดำน้ำ U-boat ในแอตแลนติกเหนือ กองทัพสัมพันธมิตรก็จะยกพลขึ้นบกในวัน D-Day ไม่ได้ อาจจะล่าช้าออกไปถึง 1 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น
เครื่องอินิกมา ภาพจาก Museo della Scienza e della Tecnologia "Leonardo da Vinci / Alessandro Nassiri
เซอร์ แฮร์รี่ ฮินสลีย์ (Harry Hinsley) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษชี้ว่า หากยกพลขึ้นบกช้าไปไม่ถึง 1 ปี ฮิตเลอร์จะแข็งแกร่งขึ้น และยากที่จะโค่นได้ ฮินสลีย์คาดว่าฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจะใช้อาวุธชีวภาพ (เชื้อแอนแทรกซ์) โจมตีเยอรมนี และหลังจากนั้นพวกอเมริกันอาจใช้ระเบิดปรมาณูกับเยอรมนี
ดังนั้น จึงมีการประมาณการณ์กันว่าความสำเร็จของทัวริงช่วยย่นเวลาการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงให้เร็วขึ้น 2 - 3 ปี ช่วยชีวิตผู้คนมากกว่า 14 - 21 ล้านคน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากจะถอดรหัสฝ่ายศัตรูได้สำเร็จแล้ว เขายังมีเวลาพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Universal Turing machine อันเป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์ที่ใช้อัลกอริทึมแก้ปัญหาต่างๆ และยังริเริ่มการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยชี้ว่าคอมพิวเตอร์สามารถคิดได้และมีปัญญาเป็นของตัวเองและทำการทดสอบศักยภาพในการคิดของเครื่องจักร เรียกว่า "การทดสอบทัวริง" (Turing test) นี่คือรากฐานของ AI ในยุคของเรา
เครื่อง Bombe ภาพจาก Wikimedia Commons
ทัวริงจึงเป็นทั้งฮีโร่สงคราม และเป็นนักบุกเบิกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกของเราไปตลอดกาล แต่ในปี 1952 เขากลับถูกตอบแทนด้วยการทรมานและความตาย เพียงแค่มีรสนิยมชายรักชาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาอังกฤษ มาตราที่ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และอาจต้องทำงานหนักด้วย ทัวริงถูกโน้มน้าวให้ยอมรับผิด โดยมีทางออกสำหรับเขา คือ รับโทษจำคุก กับรอลงอาญาแต่ต้องรับการฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อลดความต้องการทางเพศ
ทิวริงรับเงื่อนไขอย่างหลัง การฉีดฮอร์โมนเพศหญิงทำให้เขาหมดความต้องการทางเพศ สภาพร่างกายมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น และยังหมดเรี่ยวแรงได้ง่าย
นอกจากนี้เพราะทำผิดกฎหมาย เขายังต้องตกงานจากหน่วยงานของรัฐ เหลือแต่งานด้านวิชาการเท่านั้น ทั้งยังถูกห้ามเข้าสหรัฐ ทั้งๆ ที่ในช่วงสงครามเขาเคยทำงานกับสหรัฐเพื่อถอดรหัสช่วยชาวโลก
วันที่ 7 มิถุนายน 1954 ทัวริงถูกพบเสียชีวิตในบ้านพักอายุแค่ 41 ปี หลังการชันสูตรพบว่าเขารับสารไซยาไนด์ในปริมาณที่ฆ่าคนได้ แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบเหตุผลที่ทำให้เขาตาย บ้างว่าเขาฆ่าตัวตายเพราะแรงกดดันจากข้อหารักร่วมเพศและการถูกฉีดยาลดความต้องการทางเพศ บ้างก็ว่าเขารับไซยาไนด์โดยบังเอิญเพราะเป็นสารเคมีที่เขาใช้ในการทำงาน บ้างก็ว่าเขาถูกลอบสังหารเพื่อป้องกันความลับของรัฐบาลรั่วไหล
ภาพยนต์เกี่ยวกับทัวริง เรื่อง The Imitation Game (2014) ภาพจาก IMDb
ชื่อเสียงของทัวริงต้องแปดเปื้อนเพราะข้อหาที่ไม่เป็นธรรมยาวนานถึงครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งในปี 2009 เมื่อโลกตะวันตกไม่ได้มองความหลากหลายทางเพศเป็นความเลวร้ายอีกต่อไป จึงมีการณรงค์ให้รัฐบาลอังกฤษขอโทษที่ทำร้ายทัวริงด้วยข้อหาดังกล่าว กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นจึงมีแถลงการณ์ขอโทษและยอมรับว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อทัวริงอย่างเลวร้าย และในปี 2013 สมเด็จพระราชินีนาถทรงลงพระปรมาภิไธยให้อภัยโทษทัวริง และในปี 2014 ทรงประกาศพระราชทานอภัยโทษให้ทิวริงอย่างเป็นทางการ
ในปี 2016 รัฐบาลอังกฤษประกาศแผนการที่จะพิจารณาให้อภัยโทษผู้ที่ถูกลงโทษด้วยมาตรา 11 ในอดีต ร่างกฎหมายดังกล่าวเรียกกันว่า Alan Turing law