posttoday

เหมือนกันเด๊ะ ไลอ้อนคิงกับการ์ตูนญี่ปุ่นใครเป็นตัวจริง

17 กรกฎาคม 2562

ทำความรู้จักกับคิมบ้าที่บังเอิญหน้าตาเหมือนซิมบ้า

แอนิเมชั่นระดับตำนาน The Lion King (เดอะ ไลอ้อน คิง) หวนกลับมาให้แฟนๆ ในยุค 90 ได้ตื่นตากันอีกครั้งในเวอร์ชั่นไลฟ์ แอ็คชั่น ที่เพิ่งจะลงโรงฉายอย่างเป็นทางการไปหมาดๆ แต่นอกเหนือจากความอิ่มเอมใจจากซิมบ้าและผองเพื่อนแล้ว เรื่องที่หลอกหลอนค่ายดิสนีย์มาตั้งแต่เปิดตัว The Lion King เมื่อ 25 ปีที่แล้วอย่างความเหมือนทั้งตัวคาแรกเตอร์และพล็อตเรื่องระหว่าง The Lion King กับแอนิเมชั่นเรื่อง Kimba The White Lion (คิมบ้า เดอะ ไวท์ ไลอ้อน) ของญี่ปุ่นก็กลับมาด้วยเช่นกัน

ยูทูบเบอร์ที่ใช้ชื่อว่า  Alli Kat ได้โพสต์คลิปอธิบายและเปรียบเทียบความคล้ายคลึงของแอนิเมชั่นทั้งสองเรื่องไว้ได้น่าสนใจมาก

เหมือนกันเด๊ะ ไลอ้อนคิงกับการ์ตูนญี่ปุ่นใครเป็นตัวจริง ภาพ : wikipedia

ข้อมูลในคลิประบุว่า แอนิเมชั่นเรื่อง Kimba The White Lion หรือ King Of The Jungle เป็นผลงานของ โอซะมุ เทซุกะ นักวาดการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่น ที่วาดออกมาเป็นหนังสือการ์ตูนเมื่อปี 1950 ต่อมาจึงพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นแอนิเมชั่นในปี 1965 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของคิมบ้า ลูกสิงโตกำพร้าสีขาวที่ต้องกลับมาทวงบัลลังก์และสืบทอดตำแหน่งเจ้าป่าต่อจากพ่อ ด้วยความช่วยเหลือของลิงบาบูนและนกเงือก ส่วนค่ายดิสนีย์เปิดตัว The Lion King เมื่อปี 1994 ด้วยพล็อตเรื่องคล้ายๆ กัน และทำการตลาดอย่างหนักว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็นงานต้นฉบับเรื่องแรกของค่าย ไม่เหมือนกับแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ที่หยิบเรื่องราวที่มีอยู่แล้วขึ้นมาทำ

เหมือนกันเด๊ะ ไลอ้อนคิงกับการ์ตูนญี่ปุ่นใครเป็นตัวจริง โอซะมุ เทซุกะ ถ่ายเมื่อปี 1951 ภาพ : wikipedia

ตัวเทซุกะเองเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในญี่ปุ่นจนได้รับฉายาว่าเป็นวอลต์ ดิสนีย์ แห่งญี่ปุ่น เคยฝากผลงานการ์ตูนเรื่องดังไว้มากมาย อาทิ  Astro Boy หรือชื่อไทยว่า เจ้าหนูพลังปรมาณู รวมทั้ง Kimba The White Lion ที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายได้ออกไปครองใจเด็กๆ ถึงฝั่งยุโรปและออสเตรเลีย จนกระทั่งเทซุกะเสียชีวิตในปี 1989

จากนั้นทีมงานของเทซุกะได้สร้างแอนิเมชั่นเรื่องใหม่หลังการเสียชีวิตของเขาในปีเดียวกันนี้ในชื่อว่า Jungle Emperor Leo ที่ดัดแปลงจาก King Of The Jungle โดยเป็นช่วงชีวิตที่คิมบ้ามีลูก ทว่ากว่า Jungle Emperor Leo จะเปิดตัวก็ล่วงเลยมาจนถึงปี 1997 หลังจาก The Lion King 3 ปี เนื่องจากกระบวนการสร้างมีปัญหา

ในปี 1989 ดิสนีย์ก็เริ่มเดินหน้าผลิตการ์ตูนเรื่อง The Lion King และเปิดตัวในอีก 5 ปีต่อมา ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้ชมฝั่งตะวันตก แต่กับผู้ชมในญี่ปุ่นกลับเป็นคนละเรื่อง เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหนซิมบ้าของดิสนีย์ก็ช่างเหมือนกับคิมบ้าของญี่ปุ่นทั้งพล็อตเรื่องและตัวละครต่างๆ จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าดิสนีย์ลอกผลงานของเทซุกะ

ขณะที่ทีมงานของเทซุกะก็สังเกตเห็นความคล้ายคลึงของแอนิเมชั่นทั้งสองเรื่อง แต่ก็ไม่มีเงินพอจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับดิสนีย์ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีทีมนักกฎหมายระดับหัวกะทิของโลกในองค์กร ทว่ามีแฟนคลับจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าคิมบ้าควรจะได้รับการยอมรับจากดิสนีย์ มาจิโกะ ซาโตนะกะ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่นจึงเป็นแกนนำในการล่ารายชื่อบุคลในวงการแอนิเมชั่นมืออาชีพกว่า 400 คน เขียนจดหมายเปิดผนึกไปยังดิสนีย์ เพื่อเรียกร้องให้ดิสนีย์ให้เครดิตคิมบ้าของเทซุกะ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เหมือนกันเด๊ะ ไลอ้อนคิงกับการ์ตูนญี่ปุ่นใครเป็นตัวจริง ไมเคิล ไอส์เนอร์

ทว่าทางดิสนีย์ยืนยันมาตลอดว่า The Lion King เป็นงานออริจินอล ไมเคิล ไอส์เนอร์ อดีตประธานและซีอีโอของวอลต์ ดิสนีย์ เคยกล่าวไว้ว่า “The Lion King มีเอกลักษณ์ของตัวเองไม่เหมือนแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ The Lion King ไม่ได้สร้างจากนิยายที่เคยตีพิมพ์มาแล้วหรืองานวรรณกรรมอื่น แต่เป็นไอเดียของดิสนีย์เอง”

นอกจากนี้ ดิสนีย์ยังอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของ The Lion King และขู่จะดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ โดยการส่งจดหมายไปยัง จูเลี่ยน แกรนต์ ผู้จัดเทศกาล Fantasia Film Festival ในเมืองโตรอนโตของแคนาดาเมื่อปี 1997 แจ้งให้ผู้จัดเทศกาลยุติการฉายการ์ตูนเรื่อง Jungle Emperor Leo ในงานเทศกาลดังกล่าว

กระทั่งถึงทุกวันนี้ท่าทีของเจ้าหน้าที่ดิสนีย์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือ ไม่มีใครในบริษัทเคยได้ยินเรื่องราวของ King of the Jungle หรือนักวาดการ์ตูนที่ชื่อ โอซะมุ เทซุกะ ซึ่งดูจะขัดกับท่าทีของ  แมทธิว บรอเดอริค ผู้พากย์เสียงซิมบ้า ที่ให้สัมภาษณ์ถึงบทพากย์เสียงที่ได้รับไว้เมื่อปี 1994 ว่ารู้สึกสับสนกับตัวละคร “ผมคิดว่าดิสนีย์หมายถึงคิมบ้าซึ่งเป็นการ์ตูนสิงโตสีขาวที่ผมเคยดูตอนเด็กๆ” หรือแม้แต่ รอย ดิสนีย์ รองประธานวอลต์ ดิสนีย์ ยังเคยเอ่ยว่าคิมบ้าเป็นตัวเอกของ The Lion King ในจดหมายโต้ตอบฉบับหนึ่ง 1 ปีก่อนเปิดตัว The Lion King

ทั้งนี้ หลังจากรู้ความจริงเกี่ยวกับที่มาที่ไปของตัวการ์ตูนในดวงใจในวัยเด็ก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่พากันแสดงความคิดเห็นในทำนองผิดหวัง อาทิ Kit008 999 ระบุว่า “รู้สึกเสียใจมากในฐานะแฟนของไลอ้อนคิง ต้องให้เครดิตคิมบ้าเลย” ซึ่งมีผู้ใช้ชื่อ Aaron Humphrey เข้ามาตอบว่า “ประเด็นนี้ดีมาก พวกเรายังรักไลอ้อนคิงได้ แต่ก็ต้องให้เกียรติคิมบ้าด้วย” ส่วน Scremqueen Supreme คอมเม้นท์ว่า “ลองนึกภาพการขโมยผลงานจากคนที่เสียชีวิตไปแล้ว และเมื่อเจ้าของผลงานปล่อยเวอร์ชั่นดัดแปลงออกมา คุณก็อ้างสิทธิ์ในงานที่ขโมยเขามามาฟ้องเขา”

ด้าน Jaq ระบุว่า “ขอบคุณนะเทซุกะที่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ที่กลายเป็นส่วนสำคัญในวัยเด็กของผม” Rob Baskerville ระบุว่า “Kimba The White Lion ฮิตมากที่ออสเตรเลียช่วงปี 1970 ตอนเด็กๆ ผมชอบดูมาก แต่พอ The Lion King เปิดตัวมาก็เห็นได้ชัดเลยว่าลอกมา” ส่วน Captainjumptoast เผยว่า “เคยได้ยินเรื่องนี้นะ แต่เรื่องรายละเอียดยังไม่ชัดเจน แต่พอได้เห็นภาพเทียบกันช็อตต่อช็อตและทราบข้อมูลเกี่ยวกับนักเขียนมังงะก็ยิ่งชัดเจนเลย มันทำให้เราเศร้ามาก”