posttoday

ต้นกำเนิดแม่น้ำโขงวิกฤต นับถอยหลังจุดจบสายน้ำอันยิ่งใหญ่

23 กรกฎาคม 2562

ผลการวิจัยเผยว่าปริมาณการสูญเสียน้ำแข็งของธารน้ำแข็งหิมาลัยเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ

 

ต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายหลักในเอเชียมาจากธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัย และธารน้ำแข็งหิมาลัย-ฮินดูกูช ถูกขนานนามว่าเป็นขั้วโลกที่สาม เพราะมีน้ำแข็งปริมาณมหาศาลกินพื้นที่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญของโลก คือแม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำเหลือง แม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร แม่น่ำสินธุ แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง

แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งในหิมาลัยละลายเร็วขึ้นและปริมาณดิ่งลงฮวบอย่างน่าตกใจ และยิ่งเร็วขึ้นนับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมากราฟที่แสดงการลดลงของธารน้ำแข็งอยู่ในลักษณะดิ่งเหว โดยเฉพาะธารน้ำแข็งคั้งอูเร่อในทิเบตเสียพื้นที่ไปแล้วถึง 34.2% และเสียปริมาณน้ำแข็งถึง 48.2% จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chinese Science Bulletin เมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 ถึงกับชี้ว่า "ผลการวิจัยเผยว่าปริมาณการสูญเสียน้ำแข็งของธารน้ำแข็งหิมาลัยเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้"

ต้นกำเนิดแม่น้ำโขงวิกฤต นับถอยหลังจุดจบสายน้ำอันยิ่งใหญ่ ธารน้ำแข็งต้นกำเนิดแม่น้ำโขง ภาพจาก Tokyo University of Agriculture Archives, 1994.

ผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้วหลังการศึกษาครั้งนี้ ธารน้ำแข็งในทิเบตยิ่งพบกับสถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นไปอีก จากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดของปีนี้พบว่า ธารน้ำแข็งมาหิมาลัยละลายเร็วขึ้นกว่าปี 2000 ถึง 2 เท่าตัวแล้ว และมีน้ำแข็งหายไปถึงปีละ 8,000 ล้านตัน ความสูงของธารน้ำแข็งหายไป 5 เมตรต่อปี

ต้นน้ำของแม่น้ำโขงยังไม่เป็นที่สรุปกันว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ แต่จากการสำรวจโดย Tokyo University of Agriculture ของญี่ปุ่นกับทีมสำรวจของจีน ระบุว่าอยู่ที่ธารน้ำแข็งด้านทิศเหนือของภูเขากัวซางมูฉา ในทิเบต ซึ่งมีความสูง 5,224 เมตร น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งไหลลงไปเป็นธารน้ำที่ชื่อลาซากงมา จากนั้นกระแสน้ำรวมตัวเป็นแม่น้ำจายาชู แล้วกลายเป็นแม่น้ำจาชู แล้วกลายเป็นแม่น้ำหลานชางเจียง หรือแม่น้ำล้านช้างในแคว้นอัมโด (ในประเทศจีนเรียกแม่น้ำโขงว่าแม่น้ำล้านช้าง)

ต้นกำเนิดแม่น้ำโขงวิกฤต นับถอยหลังจุดจบสายน้ำอันยิ่งใหญ่ ธารน้ำแข็งในชิลี Photo by HO / IDEAL Research Centre / AFP

ขณะที่ธารน้ำแข็งในทิเบตกำลังละลายอย่างผิดปกติกันอย่างถ้วนหน้า ธารน้ำแข็งของแม่น้ำโขงก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นคือ น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลจะมีมากเกินไป ทำให้พื้นที่ชายฝั่งต้องจมน้ำเร็วขึ้น ดังนั้นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบคือเวียดนาม ซึ่งเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

ธารน้ำแข็งของแม่น้ำโขงที่ละลายเร็วผิดปกติไม่ได้ทำให้เกิดภัยแล้งในระยะสั้น แต่จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะยาว ประเทศต่อไปที่จะกลายเป็นเหยื่อของหายนะแม่น้ำโขงคือลาว ไทย พม่า และจีน ซึ่งล่าสุดแข่งกันสร้างเขื่อนเพื่อบงการปริมาณน้ำในพื้นที่ของตัวเอง

ฟิลิปปัส เวสเตอร์ แห่งศูนย์การพัฒนาภูเขาแบบบูรณาการนานาชาติ ซึ่งทำการศึกษาการละลายของธารน้ำแข็งในหิมาลัยเมื่อต้นปี 2019 บอกว่า "มันคือวิกฤตโลกร้อนที่คนยังไม่เคยได้ยินกัน"

อ้างอิง

Collapsing glaciers threaten Asia’s water supplies. (January 02, 2019). Nature.

The Source of the Mekong River, Qinghai, China. Retrived from http://www.shangri-la-river-expeditions.com/1stdes/mekong/mekongsource/mekongsource.html

The Mekong River Under Threat. (January 11, 2010). Asia-Pacific Journal.

Fast-Melting Mountain Glaciers Speed Up Sea Level Rise. (April 16, 2019). EOS.

Himalayan glacier melting doubled since 2000, spy satellites show. (June 19, 2019). Guardian.