สำรวจพบพลาสติกห่ออาหารเป็นขยะเกลื่อนทะเลมากที่สุด
ไม่เพียงแต่ทำให้สัตว์น้ำบริโภคมันเข้าไปจนเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังอยู่ในร่างกายของพวกมันในรูปของไมโครพลาสติก
รายงานของ Ocean Conservancy ซึ่งเป็นองค์กรด้านการอนุรักษ์ทะเลพบว่า ประเภทขยะที่พบบ่อยครั้งที่สุดในทะเลและตามชายหาด คือก้นบุหรี่ รองลงมาคือพลาสติกห่ออาหาร และหลอดพลาสติก
รายงานดังกล่าว ประเมินจากปริมาณขยะที่เก็บได้จากกิจกรรมเก็บขยะประจำปีที่ชายหาดต่างๆ โดยมีหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมรวมถึงไทย เฉพาะเมื่อปี 2018 มีผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมมากถึง 1 ล้านคน และเก็ยขยะได้มากถึง 10.5 ล้านกิโลกรัม
แม้ว่าก้นบุหรี่จะพบได้มากที่สุด แต่เมื่อรวมถึง 10 อันดับแรกแล้วจะพบว่า 8 ใน 10 ประเภทขยะที่พบในทะเล มีความเกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกห่อ (อันดับที่ 2) หลอดพลาสติก (อันดับที่ 3) ช้อนและส้อมพลาสติก (อันดับที่ 4) ขวดน้ำพลาสติก (อันดับที่ 5) ฝาขวดพลาสติก (อันดับที่ 6) ถุงพลาสติกใส่ของชำ (อันดับที่ 7) ถุงพลาสติกทั่วไป (อันดับที่ 8) ฝาปิดภาชนะพลาสติก (อันดับที่ 9) และจานกับแก้วพลาสติก (อันดับที่ 10)
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพลาสติกในทะเล ไม่เพียงแต่ทำให้สัตว์น้ำบริโภคมันเข้าไปจนเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังอยู่ในร่างกายของพวกมันในรูปของไมโครพลาสติก และเมื่อสัตว์ทะเลถูกจับขึ้นมาบริโภคโดยมนุษย์ ก็จะส่งผลกระทบชีวิตของคนเราอีกต่อหนึ่ง
แต่มีอีกหนึ่งปัญหาที่มักไม่ทราบกัน คือ สัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปะการัง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และเพรียง สามารถเกาะพลาสติกเป็นระยะทางไกล จากถิ่นฐานหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใหม่ที่มันรุกรานเข้าไปอาศัย