posttoday

ความพยายามของ SME ไทย

12 ตุลาคม 2562

โดย กริช อุ๊งวิฑูรย์สถิตย์

หลายอาทิตย์ก่อน มีเพื่อนรุ่นน้องที่เรียนปริญญาโทด้วยกัน มาเชิญให้ไปช่วยบรรยายด้วยกันที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้รับฟังถึงแนวทางการค้าระหว่างประเทศ ผมจึงตอบตกลงไป

สิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์คือคิดว่าเราควรจะไปให้ความรู้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่เขา อย่างน้อยก็อาจจะช่วยให้เขาเจ็บตัวน้อยลงนิดหนึ่งก็ยังดี

ปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการล้วนต่างดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยกันทั้งนั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ เราอย่าไปโทษใครเลยครับว่าบริหารราชการไม่ดี หรืออย่าไปโทษเศรษฐกิจไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเพราะเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่เราไม่ได้ระมัดระวังหรือเตรียมตัวเตรียมใจใว้ตั้งแต่ต้นมากกว่า

เพราะทุกๆประเทศที่ด้อยพัฒนาที่ก้าวเดินไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา และสุดท้ายต้องเดินสู่เส้นทางของประเทศพัฒนาแล้วนั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนในชาติด้วย หากเตรียมตัวให้คนในชาติไม่พร้อม แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องเผชิญก็จะต้องหนีไม่พ้นจากชะตากรรมที่เรากำลังประสบอยู่นี่แหละครับ

ในประเทศมที่ด้อยพัฒนาจะต้องผ่านการ "นำเข้าสินค้า" เพื่อสนองความต้องการบริโภคของประชาชน เมื่อนำเข้าสินค้ามาก็จะเกิดการแข่งขันภายใน สินค้าก็จะแพง กำไรจะมาก

จนกระทั่งต้องมีผู้ที่คิดว่าน่าจะผลิตภายในประเทศเพื่อตลาดภายในประเทศ ก็จะเข้าสู่ระยะที่สอง สิ่งที่จะต้องเจอ คือ "การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า" เราเคยอยู่ในระดับนี้มาก่อน ดังนั้นในยุคเปลี่ยนผ่านยยุคแรกนี้จะสร้างความร่ำรวยให้กับคนที่คิดสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการผันตัวเองเข้าสู่ตลาดในฐานะผู้ผลิต เพราะกำไรส่วนเกินยังเหลือเฟือ

ที่เราผ่านระดับนี้มา ใครที่ยังหลงไหลได้ปลื้มกับสิ่งที่ผ่านมา แล้วไม่คิดพัฒนาตัวเองด้วยการหานวัฒกรรมใหม่ๆ และหาตลาดใหม่ๆ ไว้รองรับการเข้าสู่ระดับที่สาม คือ หลังจากผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามีมากเกินกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศ

ส่วนเหลือเหล่านั้นก็ต้องส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆนั่นเอง ถ้าท่านนึกวาดมโนภาพตามผม ท่านก็จะเห็นได้ว่าไทยเราเข้าสู่ระดับนี้ตั้งแต่ยี่สิบปีที่ผ่านมาแล้วครับ เพียงแต่บางคนรู้ทัน ก็จะหาโอกาสในการขายได้ง่าย
อาจจะผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับตลาดที่สูงกว่าเรา สินค้าต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง สินค้าที่มีมาตรฐานดีกว่าตลาดล่าง ส่วนตลาดที่ด้อยกว่าเรา เราก็อาจจะผลิตสินต้าที่มีคุณภาพระดับเดียวกับเรา หรือสินค้าพื้นฐานก็สามารถดำรงค์อยู่ได้นั่นเองครับ

ทีนี้ลองหันมามอง SME ของเราบ้าง จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจุดนี้ ผมไม่ได้ดูแคลนท่านนะครับ เพียงแต่จะบอกว่าเราต้องเข้าใจจุดนี้ก่อน แล้วเราค่อยคิดที่จะโกอินเตอร์ เพราะผมเห็นว่าทุกๆภาคส่วนล้วนแล้วแต่ลุ้นให้พวกเขาโกอินเตอร์กันหมด แต่ละหน่วยงานก็มักจะคิดแต่ชวนเขาไปดูงาน ชวนไปแมทชิ่ง ชวนไปออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้ให้ความรู้แก่เขาก่อนไม่ได้บอกเขาว่าสินค้าของคุณเหมาะสมกับตลาดที่เขาพาไปหรือไม่

ผู้ประกอบการเองก็มักจะละเมอเพิอพกไปเองว่าสินค้าของเราดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะในโลกนี้ไม่เคยมีใครมองว่าลูกของตัวเองขี้เหร่ ลูกของตนเองเป็นอสูรกายหรอกครับ ทุกคนต่างคิดว่าลูกของตนองเป็นพระเอก ลูกของตนเองเป็นนางฟ้าทุกคนแหละครับ ไม่ยกเว้นตัวผมเองนะครับ

ดังนั้นสินค้าของตนเองเขาก็มีมุมมองในรูปแบบเดียวกันนี่แหละครับ จึงทำให้เราประมาณตนเองผิดไป แล้วเราจะโกอินเตอร์ได้อย่างไรครับ การมาร่วมบายายในครั้งนี้ ที่ผมรับคำเชิญโดยไม่ลังเล เพราะผมเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

อีกอย่างทุกครั้งที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ย่างกุ้ง พองานเลิก มักจะมีผู้ประกอบการนำเอาสินค้ามาเสนอให้ผมช่วยจัดจำหน่ายให้ ซึ่งสินค้าบางตัว บอกตรงๆว่าศักยภาพไม่มีเลยในสายตาผม ก็อยากจะโกอินเตอร์ให้ได้ เช่นมีบางท่านนำเอากล้วยฉาบมาเสนอ ผมถามว่ากำลังการผลิตปัจจุบันสามารถผลิตได้เท่าไหร่ต่อวัน เขาบอกว่าห้าหีบถึงสิบหีบ

ผมบอกว่าถ้าลูกค้ามีออเดอร์ห้าร้อยหีบละ จะต้องผลิตกี่วัน พอผลิตหีบสุดท้าย หีบแรกเหม็นหื้นพอดี ไม่ต้องได้ขายเลย ผมจึงคิดว่าอยากจะมา เพื่อมาให้สติแก่ผู้ประกอบการ SME ที่กำลังอยากจะโกอินเตอร์กันนี่แหละครับ

คิดว่าการมากระตุกขาเขาให้เขาคิดก่อนสักนิด น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเขาไม่ต้องไปเสียเวลาเสียเงินเสียทองกันครับ บางท่านอาจจะฟังแล้วไม่เข้าหู ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะผมคิดว่าจากประสบการณ์ที่ผมเคยประสบมาในอดีต อาจจะช่วยเขาได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ