"ยามา" สัตว์ที่อาจเป็นกุญแจค้นพบวิธีการรักษาโควิด-19
หากการทดลองประสบความสำเร็จ เราอาจต้องสร้างอนุสรณ์ให้กับเจ้าวินเทอร์ ตัวยามาที่ใช้ในการทดลองนี้
ยามา (llama) หรือที่คนไทยเรียกว่าลามา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในตระกูลอูฐมีถิ่นอาศัยทวีปอเมริกาใต้กลังเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเพราะมันอาจเก็บซ่อนความลับในการรักษาโรคที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เอาไว้
นักวิจัยในเบลเยี่ยมนำโดยศาสตราจารย์ซาเวียร์ แซลองส์ (Xavier Saelens) แห่งสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพเฟลมิช (VIB) เผยว่าได้ทำการฉีดโปรตีนจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้าไปในตัวยามาเพศเมียที่ชื่อวินเทอร์ หลังจากนั้นมันก็เริ่มมีปฏิกริยาด้วยการพัฒนาแอนติบอดี้ขึ้นมา
ดอเรียน เดอ ฟลีเงอร์ (Dorien De Vlieger) นักวิจัยแห่งสถาบันเดียวกันบอกกับ AFP ว่า ตัวยามามีปฏิกริยาตอบสนองต่อโปรตีนตัวนี้ และเป้าหมายของทีมวิจัยก็คือการนำแอนติบอดีที่ได้จากลามาไปพัฒนาเป็นตัวยาต่อต้านไวรัส ซึ่งต่างจากนักวิจัยที่อื่นๆ ที่พัฒนาวัคซีนที่จะกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์เกิดภูมิคุ้มกันโควิด-19โดยตรง
ล่าสุด งานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Cell โดยสรุปคือแอนติบอดีของยามามีขนาดเล็กกว่าของมนุษย์สามารถแซกซึมเข้าไปในโปรตีนของไวรัสที่มีขนาดเล็กจิ๋วได้ง่ายกว่า เมื่อแอนติบดีของยามาเข้าไปแล้วจะทำการป้องกันร่างกายจากการโจมตีของไวรัส
นักวิจัยคาดหวังว่าแอนติบอดีจากยามาจะนำไปใช้ในมนุษย์ได้และหลังจากนี้จะมีการทดลงกับมนุษย์ก่อนถึงปลายปี 2563
อย่างไรก็ตาม หากมันใช้ได้จริงมันจะใช้ได้กับมนุษย์ที่ยังไม่ติดเชื้อ หากเป็นโรคโควิด-19 แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้จะไม่มีผลใดๆ
Photo by Cris BOURONCLE / AFP