กษัตริย์มาเลเซียที่เคยถูกมองข้าม วันนี้กลายเป็นพลังสำคัญทางการเมือง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่าหลังจากผ่านมาหลายทศวรรษที่สถาบันกษัตริย์มาเลเซียต้องอยู่ห่างๆ อย่างไม่มีบทบาทการเมืองระดับชาติ วันนี้สถาบันกษัตริย์กลายมาอยู่ศูนย์กลางของการเมืองเพื่อเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจที่เกิดขึ้นในปีนี้
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์ ชะฮ์ผู้ขึ้นครองราชย์เมื่อปีที่แล้ว ก้าวเข้าสู่สมรภูมิการต่อสู้ทางการเมืองในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อรัฐบาลอายุ 2 ปีล้มลงอย่างกะทันหัน ทรงแก้ปัญหาทางตันด้วยการแต่งตั้งให้มุฮ์ยิดดิน ยัสซินเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียงจากรัฐสภา ตั้งแต่นั้นมาก็มีการตั้งคำถามถึงเสถียรภาพรัฐบาลมุฮ์ยิดดินเป็นประจำ และนักการเมืองชั้นนำของประเทศก็ขอพบกับกษัตริย์เพื่อที่จะแย่งชิงอำนาจจากมูฮ์ยิดดิน
ที่มาเลเซีย รัฐบาลผสมรัฐบาลเดียวปกครองติดต่อกันมานานถึงหกทศวรรษจนถึงการเลือกตั้งปี 2018 แต่ตอนนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่พระมหากษัตริย์จะมีบทบาทโดดเด่นในทางการเมือง ตามปกติแล้วพระมหากษัตริย์ของมาเลเซียจะผลัดกันขึ้นครองราชย์โดยสุลต่านผู้ปกครองรัฐเก้าองค์จะซึ่งหมุนเวียนกันดำรงำตแหน่ง ตามปกพระมหากษัตริย์จะทำหน้าที่ในทางพิธีการ เช่นเป็นประธานสาบานตนรับตำแหน่งรัฐมนตรี หรืออภัยโทษผู้ต้องโทษคดีอาญา
แต่ตอนนี้ด้วยการที่รัฐบาลของมุฮ์ยิดดินครองเสียงข้างมากเกินพรรคฝ่ายค้านแค่ 2 เสียงในรัฐสภา การตัดสินใจของกษัตริย์จึงมีความสำคัญในการพิจารณาว่าฝ่ายบริหารของเขาจะอยู่หรือไป พระมหากษัตริย์มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือปฏิเสธคำร้องขอให้ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้ง ในเวลาปกติเป็นเพียงอำนาจทางพิธีการในการยืนยันผลการลงคะแนนหรือการเสนอแนะของรัฐบาล
การที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันขาดอำนาจเด็ดขาด ทำให้กษัตริย์มีน้ำหนักมากขึ้นรวมถึงเมื่อคราวที่ทรงแถลงเรื่องนโยบายเช่นงบประมาณหรือมาตรการตอบรับการระบาดของไวรัสโคโรนาที่เหมาะสม
“ตอนนี้เรามีพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความโดดเด่นและกล้าแสดงออกในทางการเมืองมากขึ้น” โยฮัน สราวานามุททู ผู้ช่วยอาวุโสของวิยาลัยการศึกษานานาชาติเอส. ราชรัตนัม ผู้เขียนงานวิชาการเกี่ยวกับการเมืองมาเลเซียมานานกว่า 30 ปีกล่าว “มันเป็นการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการเมือง”
อิทธิพลของกษัตริย์จะถูกทดสอบในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทรงแสดงความ "เชื่อมั่นอย่างเต็มที่" ในความสามารถของมุฮ์ยิดดินในการนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตและเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติลงคะแนนเสียงให้งบประมาณที่รัฐบาลเสนอในวันที่ 6 พ.ย. หากไม่ผ่าน ความกดดันจะเพิ่มขึ้นให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับนักลงทุนที่กังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในมาเลเซียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
พระมหากษัตริย์ "เรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคารพคำแนะนำของพระองค์ให้ยุติข้อพิพาททางการเมืองโดยทันที และควรจะหันมาจัดลำดับความสำคัญของความผาสุกของประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีของประเทศเพื่อให้งบประมาณปี 2564 ได้รับการอนุมัติโดยไม่ต้องมี การแทรกแซง” สำนักพระราชวังกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 ต.ค.
พระราชวังไม่ตอบคำถามทางอีเมลเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในมาเลเซียก่อนที่จะมีการเผยแพร่บทความนี้ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ตำแหน่งพระราชาธิบดีแบบหมุนเวียนผลัดกันดำรงตำแหน่งของมาเลเซีย ประกอบด้วยผู้ปกครองของรัฐมาเลย์เก้ารัฐ ตำแหน่งของกษัตริย์จะถูกส่งต่อไปในบรรดาผู้ปกครองโดยแต่ละวาระจะมีระยะเวลาห้าปี
หลังจากการประกาศเอกราชของประเทศในปี 1957 บรรดาสุลต่านรัฐต่างๆ และแนวร่วมฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยพรรคอัมโนมีความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
สิ่งนี้เปลี่ยนไปเมื่อมหาเธร์ โมฮัมหมัดก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทศวรรษที่ 1980 เขาพยายามที่จะลดอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์โดยการยุติอำนาจการยับยั้งของรัฐบาลกลาง ลดภูมิคุ้มกันทางกฎหมาย และยกเลิกกฎหมายที่กีดกันไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ เขายังพยายามที่จะถ่ายโอนอำนาจฉุกเฉินไปยังฝ่ายบริหารของรัฐบาล
หลังจากการครองอำนาจ 22 ปีของมหาเธร์สิ้นสุดลงในปี 2003 เกรก โลเปซ อาจารย์ของ Murdoch University Executive Education Center ในเพิร์ทบอกว่า สุลต่านทรงพบโอกาสที่จะกลับมาเป็นที่ที่สนใจอีกครั้ง
“สุต่านองค์ต่างๆ เป็นศูนย์กลางอำนาจ ดังนั้นนักการเมืองจึงรู้ดีว่าการให้อำนาจแก่สุลต่านองค์ต่างๆ นั้นเป็นความผิดพลาดเพราะพระทรงจะตรวจสอบพวกนักการเมือง” โลเปซกล่าว “ นักการเมืองที่อ่อนแอ ผู้นำที่อ่อนแอไปหาพระองค์”
รัฐบาลของมุฮ์ยิดดินอาจจะไม่มั่นคงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย ความโดดเด่นที่เพิ่มขึ้นของกษัตริย์เห็นได้ชัดในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในเปิดรัฐสภาครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม เมื่อพระองค์เรียกร้องให้มีเอกภาพและกระตุ้นให้ฝ่ายนิติบัญญัติ “แสดงวุฒิภาวะทางการเมือง” นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศที่การประชุมสภามีการกล่าวสุนทรพจน์ของกษัตริย์เท่านั้นโดยไม่มีเวลาให้ผู้แทนหารือเกี่ยวกับนโยบายหรือแก้ไขปัญหาการระบาด
เมื่อเดือนที่แล้วกษัตริย์ปฏิเสธข้ออ้างของอันวาร์ อิบราฮิมผู้นำฝ่ายค้านที่อ้างว่ามีหลักฐาน "น่าเชื่อถือ" ว่าเขามีเสียงข้างมากในรัฐสภา ทรงกล่าวว่าอันวาร์ไม่ได้ส่งชื่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องของเขา และทรงเรียกร้องให้ประเทศเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมากษัตริย์ยังปฏิเสธคำขอของมูฮ์ยิดดินในการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อจัดการกับการระบาดของโรคซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถจ่ายงบประมาณได้โดยไม่ต้องลงคะแนนเสียงในสภา การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดกระแสเรียกร้องให้มูฮ์ยิดดินลาออกแม้แต่ในกลุ่มพันธมิตรของเขาเองก็ตาม
หลายคนในมาเลเซียยินดีต้อนรับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกษัตริย์โดยเห็นว่าพระองค์เป็นปากเสียงแห่งเหตุผลในช่วงเวลาที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด เมื่อกษัตริย์ทรงสั่งให้ระงับมาตรการฉุกเฉินของรัฐบาล ก็เกิดแฮชแท็ก “ #daulattuanku” ซึ่งหมายถึง "ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน" กำลังได้รับความนิยมใน Twitter
โดยไม่คำนึงถึงอิทธิพลทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดหลายศตวรรษ ราชวงศ์ของมาเลเซียก่อให้เกิดปรากฎการณ์การแสดงความภักดีอย่างดุเดือดจากเชื้อสายมาเลย์ซึ่งชนกลุ่มใหญ่ แต่การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์มาเลเซียถือเป็นความเสี่ยงทางกฎหมายเช่นกัน
หนังสือพิมพ์ The Edge รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่าตำรวจจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้านในท้องถิ่นแห่งหนึ่งจากการแสดงความคิดเห็นที่ปลุกระดมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่โพสต์บนเฟซบุ๊ค
การกระทำของพระมหากษัตริย์ในปีนี้เป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” โออีซุน นักวิชาการของสถาบันวิเทศสัมพันธ์แห่งสิงคโปร์กล่าว “สถาบันกษัตริย์ทรงกุมอำนาจตามรัฐธรรมนูญมากขึ้่น”
Photo by MOHD RASFAN / AFP